svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ปชป.ย้ำตั้งสสร.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญเหตุล็อกห้ามแก้หมวด1-2

21 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ประชาธิปัตย์" ย้ำตั้ง "สสร." ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เหตุล็อกห้ามแก้หมวด 1 และ 2 ไว้ ย้ำไม่ถือเป็นการร่างใหม่ทั้งฉบับ ชี้ควรนำร่างไปทำประชามติถามประชาชน ก่อนทูลเกล้าฯ เพียงครั้งเดียว แนะไม่ควรขยายเวลาพิจารณาของ กมธ.ออกไปอีก

21 ตุลาคม 2563 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ กล่าวถึงหลักการข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการประกาศไว้เป็นพรรคการเมืองแรก ในการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จนนำไปสู่การกำหนดไว้ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศ พรรคประชาธิปัตย์จึงได้ดำเนินการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับรัฐบาล โดยยืนยันว่าร่างดังกล่าวเป็นร่างที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทุกประการ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้ง่ายขึ้น และให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่มีการแก้ไขในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 และ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนที่ชัดเจนในการสนับสนุนร่างดังกล่าวอย่างไรก็ตาม ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ได้พิจารณาถึงประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 เกี่ยวกับล้มล้างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากร่างดังกล่าว ได้ห้ามการแก้ไขในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 ไว้ จึงถือว่าไม่ได้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ส่วนประเด็นของการจัดทำประชามตินั้น พรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นว่า หลังจากที่การแก้ไขในมาตรา 256 ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ก่อนจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฯ ให้นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมไปจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามประชาชนว่ายินยอมให้มีการแก้ไขหรือไม่ โดยให้กระทำเพียงครั้งเดียว แต่การที่จะดำเนินการออกเสียงประชามตินั้น จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติเสียก่อนนายอัครเดช กล่าวต่อว่า จึงเห็นว่าควรจัดทำกฎหมายออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จ ก่อนการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม นอกจากนี้ พรรคยังมีความคิดเห็นว่ากรอบเวลาในการพิจารณาของกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ ระยะเวลา 30 วัน มีความเหมาะสมแล้ว จึงไม่ควรขอยายเวลาการพิจารณาออกไปอีก เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เข้าสู่การพิจารณาในวาระรับหลักการตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาโดยเร็วที่สุด

logoline