svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ความจริงปิดให้บริการ บีทีเอส. กับสิ่งที่ "ธนาธร" อ้าง

19 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะจากการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 และองค์กรเครือข่าย ซึ่งมี 3 ข้อเรียกร้องหลัก คือ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ต้องเปิดสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือที่เรียกว่า "ข้อเรียกร้อง 3 ป." นั้น

ปรากฏว่าล่าสุดได้มีการเปิดประเด็นใหม่จากประธานคณะก้าวหน้า โดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้พาดพิงไปถึงบริษัทเอกชน ว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับรัฐบาลเผด็จการ เพราะทำตัวว่านอนสอนง่าย ปฏิบัติตามคำสั่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

โพสต์ล่าสุดของนายธนาธร ตั้งประเด็น "ว่าด้วยการปิดบริการรถไฟฟ้าในช่วงการชุมนุม : มองความสัมพันธ์ นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา ผ่านรถไฟฟ้า" โดยตั้งข้อสังเกตว่า การที่บีทีเอสให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับคำสั่งของรัฐบาล ในการห้ามประชาชนเข้าสถานีรถไฟฟ้าหลายแห่ง ในช่วงวันเวลาที่มีการนัดหมายการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนนั้น เป็นเพราะผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับบีทีเอส

เหตุผลที่นายธนาธร หยิบมากล่าวหา ก็คือบีทีเอสเลือกให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ในการปิดสถานีอย่างว่านอนสอนง่าย เพราะช่วงปลายรัฐบาล คสช.ปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 เอื้อประโยชน์ให้บีทีเอส เปิดทางขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นทางสายหลัก และส่วนต่อขยายที่อยู่ระหว่างก่อสร้างทั้งหมด โดยไม่ต้องประมูล ไปจนถึงปี 2602 และยังอ้างว่าสาเหตุที่ นายปรีดี ดาวฉาย ลาออกจากตำแหน่งรมว.คลัง หลังรับตำแหน่งเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็เพราะไม่อยากทำผิดกฎหมายในเรื่องนี้


แต่จากการรวบรวมข้อมูลของ "เนชั่นทีวี" พบว่า การประกาศปิดสถานีรถไฟฟ้าของบีทีเอส เป็นไปตามคำสั่งของกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง หรือ กอร.ฉ. ซึ่งมีคำสั่งออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนทุกครั้ง และเป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งรัฐบาลประกาศเอาไว้ โดยหากบีทีเอสไม่ปฏิบัติตาม ก็จะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย และรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ก็ปิดให้บริการเช่นกัน

ขณะที่ บริษัทห้างร้านที่อยู่ใกล้กับสถานที่ชุมนุม ทั้งสี่แยกราชประสงค์ สี่แยกปทุมวัน และพื้นที่อื่นๆ ต่างก็พากันปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชุมนุม โดยไม่ต้องมีคำสั่งจาก กอร.ฉ.ด้วยซ้ำ ฉะนั้น การปิดให้บริการของบีทีเอส เพราะผู้ชุมนุมประกาศไปรวมตัวกันที่สถานีรถไฟฟ้า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย และป้องกันเหตุไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรวมตัวของฝูงชนจำนวนมาก

ส่วนการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นทางหลักและส่วนต่อขยายนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการขยายสัมปทาน และคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ก็ไม่ได้เป็นการขยายสัมปทานให้บีทีเอสโดยอัตโนมัติ แต่เป็นการตั้งคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกเรื่องการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อไม่ให้มีการคิดค่าโดยสารที่เป็นภาระต่อประชาชนมากเกินไป เนื่องจากแนวทางการเปิดประมูลใหม่ ตามที่นายธนาธร กล่าวอ้าง จะทำให้ราคาค่าโดยสารสูงมาก เพราะเอกชนรายใหม่ที่เข้ามามีต้นทุนสูงในการจัดหาขบวนรถมาให้บริการรถไฟฟ้า ซึ่งจะเกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงกับประชาชนในฐานะผู้โดยสาร


ที่สำคัญการต่อสัญญาสัมปทานของบีทีเอส ส่วนต่อขยายที่ 1 อ่อนนุช-แบริ่ง และตากสิน-บางหว้า ก็เกิดขึ้นในปี 2555 เพื่อแก้ปัญหาเรื่องราคาค่าโดยสารพุ่งสูงจนจนกระทบกับค่าครองชีพของประชาชนเช่นกัน ซึ่งแม้นายธนาธรจะพูดถึงเนื้อหาในส่วนนี้ในโพสต์ล่าสุดของตนเอง แต่ก็ไม่ได้ขยายความต่อว่า การต่อสัญญาสัมปทานเกิดขึ้นในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่การลาออกจากตำแหน่งรมว.คลัง ของ นายปรีดี ดาวฉาย มีหลายสมมติฐาน เจ้าตัวเองบอกว่าเป็นปัญหาเรื่องสุขภาพ ขณะที่ข่าวจากกระทรวงการคลัง ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในกระทรวง ฉะนั้น การตีขลุมว่าการลาออกของนายปรีดี มาจากเรื่องการขยายสัมปทานให้บีทีเอส จึงไม่น่าจะถูกต้อง และเป็นการกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม

ความจริงปิดให้บริการ บีทีเอส. กับสิ่งที่ "ธนาธร" อ้าง

logoline