svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

โมเดล"ม็อบไทย"ส่วนผสม"ฮ่องกง-อาหรับสปริง"

19 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วิเคราะห์โมเดลชุมนุมคณะราษฎร 2563 พร้อมองค์กรเครือข่ายทั้งในเมืองหลวงและหลายจังหวัดทั่วประเทศ "กูรู" ชี้เป็นส่วนผสมของ "ม็อบฮ่องกง" กับ "อาหรับสปริง" จับตาบทสรุปสร้างการเมืองใหม่ หรือลงท้ายย่ำรอยเดิม

ประเด็นที่หลายคนอยากทราบมากที่สุดในขณะนี้ คือ การชุมนุมของคณะราษฎร 2563 และเครือข่าย หรือ "ม็อบไทย" ขณะนี้ ที่สามารถรวบรวมผู้คนได้เป็นจำนวนมาก และจัดชุมนุมได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน พร้อมใจกันนัดไปปิดสี่แยกสำคัญ จนสั่นสะเทือนไปทุกวงการนั้น จะมีจุดจบที่ตรงไหน?

โมเดล"ม็อบไทย"ส่วนผสม"ฮ่องกง-อาหรับสปริง"



ก่อนอื่นต้องพิจารณารูปแบบการชุมนุมในขณะนี้ก่อน โดยเปรียบเทียบกับ 2 โมเดลที่ใกล้เคียงกัน คือ

1.ฮ่องกงโมเดล ความเหมือน คือ เป็นการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และคนรุ่นใหม่เป็นส่วนใหญ่ มีการนัดรวมตัวเป็นระยะ โดยใช้โซเชียลมีเดีย และขัดขวางการคมนาคมขนส่งคล้ายๆ กัน

ทว่า จุดต่าง คือ พื้นที่ฮ่องกงมีขนาดเล็ก ฝ่ายเจ้าหน้าที่รับมือได้ไม่ยากนัก และผู้บริหารฮ่องกงเป็นเนื้อเดียวกับรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจ โดยทางการจีนหนุนหลัง ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ประเทศไทยมีหลายภูมิภาค อาจมีม็อบในต่างจังหวัดขยายตัวขึ้น ทำให้ยากต่อการควบคุมมากกว่า และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ได้มีเสถียรภาพแข็งแกร่งอะไรมากมาย เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมตีตัวออกห่าง เพียงแต่ยังมีจุดแข็งอยู่ที่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกองทัพ

2.โมเดลอาหรับสปริง คือ เกิดการชุมนุมขนาดใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวผู้นำ หรือที่จริงๆ แล้ว คือ การเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง โดยกระบวนการสร้างจุดเปลี่ยน มีการใช้โซเชียลมีเดียจุดกระแส และมีต่างชาติแทรกแซง

แต่จุดต่าง คือ ระบอบการปกครองของไทยไม่ได้เป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ หรือครองอำนาจมาอย่างยาวนานเหมือนประเทศที่เกิดอาหรับสปริงในตะวันออกกลาง ขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังที่เคารพเทิดทูนของคนในประเทศจำนวนไม่น้อย และไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันที ทำให้การชุมนุมไม่ได้มาจากความเห็นพ้องของคนส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศ เหมือนที่เกิดในอาหรับสปริง

นักวิชาการซึ่งเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงให้ความเห็นว่า พิจารณาจากรูปแบบการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ในปัจจุบัน เป็นการรวม 2 โมเดลเข้าด้วยกัน คือ ระดับยุทธศาสตร์ ใช้โมเดล "อาหรับสปริง" มุ่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและอำนาจรัฐ ขณะที่ในระดับยุทธวิธีใช้ "ฮ่องกงโมเดล" คือการนัดรวมตัวชุมนุมรายวัน ใช้เด็กและเยาวชนออกหน้า มุ่งปิดการจราจรและการคมนาคมขนส่งเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม สร้างแรงกดดันมหาศาลไปยังรัฐบาล

เมื่อรัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการเด็ดขาดเข้าจัดการ ก็จะเรียกร้องให้องค์กรต่างประเทศ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลต่างประเทศกดดัน เป้าหมายสุดท้ายคือ ล้มรัฐบาล ล้มล้างระบอบการปกครองเดิม และสถาปนาระบอบใหม่

โมเดล"ม็อบไทย"ส่วนผสม"ฮ่องกง-อาหรับสปริง"

แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การเปลึ่ยนแปลงของหลายๆประเทศ หลัง "อาหรับสปริง" ก็ไม่ได้สร้างให้การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย หรือสงบสุขอย่างที่ผู้ออกมาประท้วงคิดฝัน เช่น อียิปต์ ตูนิเซีย หรือเยเมน

ประการสำคัญ สภาพสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยใช้โซเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ทำให้เกิดการแบ่งกลุ่ม แบ่งฝ่าย มีความแตกแยกของคนในชาติอย่างมากมายแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังเช่นที่ผู้อยู่เบื้องหลังการใช้โซเชียลมีเดียในการนำประท้วงในอียิปต์เคยพูดเปิดใจเอาไว้

(ชมคลิป วาเอล โกนิม ผู้อยู่เบื้องหลังการใช้โซเชียลมีเดียนำประท้วงในอียิปต์)

โมเดล"ม็อบไทย"ส่วนผสม"ฮ่องกง-อาหรับสปริง"

logoline