svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ดร.เจษฎ์ มอง "ม็อบไม่จบง่าย- เตือนข้อเรียกร้องต้องชัด"

18 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สถานการณ์จะลดทอนหรือเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ฝ่ายจะเติมเชื้อไฟลงไปหรือไม่ หากช่วยกันชักฟืนออกจากไฟ สักวันไฟก็ดับได้" นี่คือ มุมมองจาก นักวิชาการด้านกฎหมาย และอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ให้มุมมองที่น่าสนใจกับสถานการณ์การชุมนุมภายในประเทศในขณะนี้

ดร.เจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย และอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประเมินสถานการณ์การชุมนุมของคณะราษฎร 63 ที่กำลังเกิดม็อบดาวกระจายไปทั่วว่า สถานการณ์จะบานปลายหรือไม่ขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ฝ่าย หากฝ่ายความมั่นคงยังรักษาระดับการใช้มาตรการตามการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพมหานคร ในระดับที่ไม่มีการก้าวล่วงต่อบทบัญญัติกฎหมายอื่น และการชุมนุมยังเป็นไปโดยไม่ฝ่าฝืนตัวบทกฎหมายไปมากกว่านี้ ในส่วนของความมั่นคงเองคิดว่าคงไม่มีอะไรรุนแรงเพิ่มขึ้น หากไม่มีการสลายการชุมนุมเหมือนคืนวันที่ 15 ต.ค.


สรุปก็คือถ้ายังชุมนุมไปเรื่อยๆ และการดำเนินการในฝ่ายความมั่นคงไม่ได้กดดันมากขึ้น ขณะที่ในส่วนของผู้ชุมนุมก็ไม่เร่งเร้าปฏิกิริยา ทุบตี ด่าทอ หรือล่วงล้ำจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ สถานการณ์ก็ยังอยู่ในระดับที่หาทางออกร่วมกันได้


ส่วนกลไกรัฐสภา จะต้องเร่งกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร ก็ต้องว่ากันไป แต่ในส่วนของพรรครัฐบาลบางพรรคมีท่าทีต้องการปรับเปลี่ยนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วยกร่างใหม่ จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็จะเป็นทางออกได้


แต่หากรัฐบาลกระชับพื้นที่ บีบทำให้เกิดการเร่งเร้าของกลุ่มผู้ชุมนุม หากกลุ่มผู้ชุมนุมเองไม่ลดทอน ยังคงเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบัน และลุกลามบานปลาย จนมีการกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องดำรงพระองค์เช่นนั้นเช่นนี้ หรือล้มล้างสถาบัน ก็จะทำให้พูดคุยกันยาก


"สถานการณ์จะลดทอนหรือเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ฝ่ายจะเติมเชื้อไฟลงไปหรือไม่ หากช่วยกันชักฟืนออกจากไฟ สักวันไฟก็ดับได้" อดีตที่ปรึกษา กรธ. กล่าว

เมื่อถามถึงโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงนำไปสู่การรัฐประหาร ดร.เจษฎ์ มองว่า การรัฐประหารไม่มีความจำเป็น เนื่องจากสาเหตุที่นำไปสู่รัฐประหารมาจากฝ่ายความมั่นคงหรือฝ่ายทหารคุยกับรัฐบาลไม่รู้เรื่อง หรือฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถาการณ์ได้ มีเหตุการณ์รุนแรงจนเกินการควบคุม และรัฐสภาไม่สามารถทำหน้าที่ได้ มีความขัดแย้งกับรัฐบาล จนประเทศไม่สามารถเดินหน้าได้ ถ้ามีเงื่อนไขแบบนี้จึงจะเกิดการรัฐประหาร เนื่องจากฝ่ายทหารเองต้องใช้กฎอัยการศึกเพื่อให้สามารถควบคุมสถาการณ์ได้



แต่ขณะนี้รัฐบาลยังมีเครื่องมืออีกจำนวนมาก และคิดว่าคงพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการสลายฝูงชนจนมีการบาดเจ็บ แต่สุดท้ายหากจำเป็นจริงๆ เพราะมีการทำลายข้าวของหรือทรัพย์สินสาธารณะ ก็อาจมีการเข้าสลายฝูงชนบ้าง แต่ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณอะไรบ่งชี้ไปในทางนั้น



ในมุมมองของ ดร.เจษฎ์ เห็นว่า หากผู้ชุมนุมไม่ลดทอนเรื่องการปฏิรูปสถาบัน คงคุยกันไม่รู้เรื่อง และฝั่งผู้ชุุมนุมเองต้องคุยกันให้ชัดว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร เพราะถ้าหากสาเหตุที่แท้จริงคือรัฐธรรมนูญหรือรัฐบาล การปฏิรูปสถาบันก็เป็นคนละประเด็น รวมไปถึงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญก็ไม่มีประโยชน์

ขณะนี้เองต่างฝ่ายต่างต้องทำหน้าที่ สภาต้องแก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องแก้เรื่องการบริหารราการแผ่นดิน หยุดเรื่องคุกคามประชาชน และให้พื้นที่ผู้ชุมนุมในการแสดงออก ลดใช้วาทกรรมบางอย่าง เช่น "ไม่ลาออก" ขณะที่ผู้ชุมนุมเองก็ต้องคิดว่าฝ่ายตนทำมากไปหรือไม่ สิ่งที่คิดหรือทำเกิดประโยชน์หรือผลกระทบอย่างไรต่อบ้านเมืองบ้าง ไม่ใช่เอาแต่ความพอใจของตนเอง ถ้าถอยกันคนละก้าวแบบนี้จึงจะพอคุยกันได้


"ผมมองว่าสถานการณ์การชุมนุมคงไม่จบในเดือน ต.ค. อยู่ที่ว่าสภาและรัฐบาลดำเนินการไปได้ขนานไหนในงานของตนเอง ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันเป็นไปไม่ได้เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่เห็นด้วย และที่ผ่านมาผู้ชุมนุมบางส่วนจาบจ้วงล่วงเกิน ทำอะไรมากเกินไป เพราะการปฏิรูปสถาบันกับการด่าทอสถาบันเป้นคนละเรื่อง และการปฏิรูปสถาบันกับการล้มล้างสถาบันก็เป็นคนละเรื่อง ต้องแยกให้ออกก่อน เนื่องจากวิถีทางปัจจุบันคือด่าทอและจะล้มล้างสถาบัน ไม่ใช่ปฏิรูปสถาบัน" ดร.เจษฎ์ กล่าวในที่สุด

logoline