svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เจาะวิธีรับมือเฟกนิวส์เบ่งบานช่วงการเมืองป่วน

17 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างคึกคักสุดขีดช่วงการเมืองป่วน ก็คือกระแสเฟกนิวส์ หรือ "ข่าวปลอม" ที่ปั่นให้เหตุการณ์ดูร้ายแรงเกินจริง เรียกได้ว่า "เจ้ากรมข่าวลือ" ทำงานหนักเป็นพิเศษ ที่น่าตกใจก็คือมีข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่าการเดินทางของข่าวปลอม เข้าถึงผู้คนได้มากกว่าข่าวจริง 6 เท่า และเฟกนิวส์การเมือง ทำงานได้ผลกว่าข่าวปลอมชนิดอื่น 3 เท่า

เท่าที่ "เนชั่นทีวี" ตรวจสอบพบว่า มีข่าวเฟกนิวส์แชร์กันไม่น้อยช่วงระหว่างและหลังการฉีดน้ำสลายการชุมนุมของตำรวจที่สี่แยกปทุมวัน ที่พบจำนวนมากก็เช่น

- การยิงกระสุนยาง ซึ่งจนถึงขณะนี้ทุกฝ่ายยืนยันตรงกันว่าไม่มีการยิง รวมทั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ยอมรับว่า ไม่มีการยิงกระสุนยาง

- การเตรียมใช้กระสุนจริง หรือการระดมกำลังทหาร ซึ่งโดยข้อเท็จจริงก็ไม่มีเช่นเดียวกัน

- การนำภาพความรุนแรงจากต่างประเทศมา โดยเฉพาะม็อบฮ่องกง ที่มีภาพจับกุมเยาวชน แล้วอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ที่สี่แยกปทุมวัน ซึ่งไม่เป็นความจริง

ในทางวิชาการ อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร บอกกับ "เนชั่นทีวี" ว่า ในช่วงเวลาวิกฤติ หรือในสถานการณ์ตึงเครียด เช่น การชุมนุมทางการเมือง มักมีข่าวปลอมปรากฏบนโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ ซึ่งในบางสถานการณ์ก็ทำให้เกิดความตึงเครียดยิ่งขึ้นไปอีก เพราะผู้รับข้อมูลข่าวสารเชื่อในข่าวปลอม เพราะมักจะกระตุ้นอารมณ์ของผู้คนให้โกรธ เกลียด และไม่พอใจ ต่อข่าวที่ได้รับ และมักส่งข่าวเหล่านั้น ออกไปโดยขาดการตรวจสอบและกลั่นกรอง

อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อธิบายต่อว่า การได้รับข่าวปลอมซ้ำๆกัน ทำให้ผู้ที่อ่อนไหวต่อข่าวปลอมคิดว่าเป็นเรื่องจริง ทั้งๆ สิ่งที่ได้รับเป็นข่าวปลอม ทำให้เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ปรากฏการณ์ความจริงเทียม" ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ ที่มักเชื่อข้อมูลที่ตรงกับความคิดของตนเองเสมอ จากการถูกย้ำด้วยข้อมูลชุดเดียวกันซ้ำๆ กัน

ที่น่าตกใจ คือ"เฟกนิวส์"สามารถเดินทางได้ไกลกว่า เร็วกว่า และเข้าถึงผู้คนได้มากกว่าข่าวปกติ การเผยแพร่ข่าวจริงต้องใช้เวลามากกว่าการเดินทางของข่าวปลอมถึง 6 เท่า ด้วยจำนวนที่เท่ากัน และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือข่าวปลอมที่เกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง เป็นข่าวที่แพร่ได้กว้างขวาง เร็ว และถึงตัวผู้รับมากกว่าข่าวปลอมอื่นๆ ราว 3 เท่า จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าข่าวปลอมทางการเมือง จึงได้รับความสนใจและสร้างความสับสนให้กับผู้รับข่าวสารได้มากกว่าข่าวปลอมอื่นๆ


เจาะวิธีรับมือเฟกนิวส์เบ่งบานช่วงการเมืองป่วน

สำหรับการต่อสู้กับข่าวปลอม ซึ่งทุกประเทศล้วนเจอกับปัญหานี้ จึงมีมาตรการในการออกกฎหมายควบคุม การขอความร่วมมือจากเจ้าของแพลตฟอร์ม แต่ก็เป็นมาตรการที่ถูกใช้หลังจากข่าวปลอมได้เกิดขึ้นแล้ว และมักไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของแพลตฟอร์มอย่างรวดเร็วเท่าที่ควร

วิธีการที่ดีกว่า คือ สร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนต่อข่าวปลอม เช่น รณรงค์ให้รู้พิษภัยของข่าวปลอม คล้ายรณรงค์ให้เห็นพิษภัยของเหล้า บุหรี่ รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้กับเยาวชน โดยการกำหนดหลักสูตรรู้ทันสื่อในโรงเรียน หรือ Media literacy ซึ่งต้องมีในทุกระดับการศึกษา เพื่อให้เด็กได้ซึมซับถึงพิษภัยจากโซเชียลมีเดียและข่าวปลอม นอกจากนั้นก็มีการใช้เทคโนโลยีการตรวจจับข่าวปลอม ซึ่งต้องใช้ทั้งเทคโนโลยี เงินทุน และความร่วมมือจากเจ้าของแพลตฟอร์มด้วย

logoline