svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

เปิด 10 เมนูเสี่ยง "อาหารเป็นพิษ"

14 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนที่เดินทางไปทำบุญทอดกฐินในช่วงนี้ ขอให้ระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะ 10 เมนูเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ เนื่องจากในบางพื้นที่มีอากาศร้อน ประกอบกับอาหารบางอย่างทำไว้นานแล้ว จึงอาจทำให้บูดเสียได้ง่าย

14 ตุลาคม 2563 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงหลังจากออกพรรษาจะมีการจัดงานบุญกฐิน หรืองานบุญประเพณีต่างๆ ซึ่งจะมีการประกอบอาหารจำนวนมากเพื่อเลี้ยงผู้ที่มาร่วมทำบุญ กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเรื่องการจัดเตรียมอาหารและการรับประทานอาหารเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้ ที่มีทั้งร้อนสลับกับฝนตก หรือบางพื้นที่มีอากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อทางอาหารและน้ำเจริญเติบโตได้ดี ประกอบกับอาหารบางอย่างปรุงเสร็จไว้นานแล้ว ส่งผลให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษ

เปิด 10 เมนูเสี่ยง "อาหารเป็นพิษ"


สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 5 ตุลาคม 2563 พบผู้ป่วย จำนวน 66,494 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อายุ 15-24 ปี รองลงมาคืออายุมากกว่า 65 ปี และอายุ 25-34 ปี ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด ได้แก่ สมุทรสงคราม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี มุกดาหาร และลําพูน
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ และสารพิษหรือสารเคมี ที่มาได้กับอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ วัตถุดิบ น้ำดื่ม น้ำแข็งไม่สะอาด อาหารที่ปรุงเสร็จแล้วเก็บไว้นานเกิน 2 ชม. โดยไม่นำไปแช่เย็นหรือนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน ประกอบกับสภาพอากาศ ซึ่งอากาศร้อนทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี

เปิด 10 เมนูเสี่ยง "อาหารเป็นพิษ"

สำหรับอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษที่ประชาชนควรระมัดระวัง 10 เมนูเสี่ยง ได้แก่

  • จ่อม ลาบหรือก้อยดิบ
  • อาหารประเภทยำ เช่น ยำกุ้งเต้น
  • อาหารทะเล เช่น ยำทะเล
  • ข้าวผัด/ข้าวผัดโรยเนื้อปู
  • อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด
  • ขนมจีน
  • ข้าวมันไก่
  • ส้มตำ
  • สลัดผัก
  • น้ำแข็งที่ไม่สะอาด

  • นอกจากนี้ การจัดเตรียมอาหารเลี้ยงคนหมู่มาก เช่น อาหารกล่อง ควรเลือกเป็นอาหารแห้ง ไม่ราดกับข้าวลงบนข้าวโดยตรง ควรรับประทานภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ และหากมีสี กลิ่น รส ผิดปกติไม่ควรรับประทานโดยเด็ดขาด
    สำหรับการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ขอให้ประชาชนยึดหลัก "สุก ร้อน สะอาด" โดยรับประทานอาหาร ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนปรุงประกอบอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก ซึ่งอาการของโรคคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดมวนท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือมีมูกเลือด และอาจมีไข้ร่วมด้วย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) ทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อป้องกันการขาดน้ำจนช็อกและเสียชีวิตได้ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

    logoline