svasdssvasds
เนชั่นทีวี

พระราชสำนัก

หนึ่งในพระราชกรณียกิจ ตอน "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย"

13 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันน้อมรำลึกเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ เป็นพระบิดาแห่งศาสตร์ทั้ง 9 หนึ่งในนั้นคือ "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย"

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระราชหฤทัยและทรงมีพระปรีชาสามารถทรงงานด้านต่างๆ หลายด้าน งานช่างเป็นงานด้านหนึ่งที่ทรงมีความสนพระราชหฤทัย มีความถนัด และทรงมีฝีพระหัตถ์เป็นเยี่ยมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งด้านช่างไม้ ด้านช่างโลหะ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่ด้านเครื่องยนต์ ทรงสามารถทำได้ดีในทุกแขนงของงานพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นในการพัฒนาฝีมือการช่างเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและเพื่อให้แรงงาน และช่างฝืมือไทยต่างได้ย้อนเห็นถึงคุณค่าของช่างฝีมือ ได้จึงกำหนดให้วันที่ ๒ มีนาคมของทุกปีเป็น "วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ" กระทรวงแรงงาน ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย"

หนึ่งในพระราชกรณียกิจ ตอน "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย"


ช่างต่อเรือใบ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระราชหฤทัยในงานช่างตั้งแต่ยังทรงศึกษาอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทรงประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เอง เช่น เครื่องร่อน และเรือรบจำลอง และจากการที่ทรงสนพระราชหฤทัยในกีฬาเรือใบเป็นอย่างยิ่งประกอบกับทรงพระปรีชา สามารถทางการช่าง จึงทำให้ทรงมีผลงานการออกแบบและต่อเรือใบที่ดีเลิศ ทรงชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๔ พุทธศักราช ๒๕๑๐ ณ ประเทศไทย ด้วยเรือที่ทรงต่อขึ้นด้วยพระองค์เอง จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระอัจฉริยภาพทางการช่างอย่างแท้จริง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีฝีพระหัตถ์เป็นเยี่ยมในด้านการช่าง ทั้งช่างไม้ ช่างโลหะ และช่างกล ซึ่งเป็นงานพื้นฐานด้านวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงจำลองเรือรบหลวงของไทยชื่อ "ศรีอยุธยา"ซึ่งยาวเพียงสองฟุต มีทั้งสายเคเบิ้ล และปืนเรือครบครันเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มต่อเรือใบ ตามมาตรฐานสากล ประเภท เอ็นเตอร์ไพรส์ (EnterpriseClass) ชื่อ ราชปะแตน ในปีต่อมา ทรงต่อเรือใบประเภท โอเค (OKClass) ลำแรกในประเทศไทย ชื่อ นวฤกษ์ และทรงต่อเรือใบประเภทโอเคอีก ๓ ลำ ชื่อ เวคา๑ เวคา๒ เวคา๓ ระหว่างพุทธศักราช๒๕๐๙๒๕๑๐ ทรงต่อเรือใบประเภท มด (MothClass) ๓ ลำ ชื่อ มด ซุปเปอร์มด และ ไมโครมด และลำสุดท้ายคือเรือใบโม้ค (Moke) ในการสร้างเรือใบทรงร่างแบบ คิดคำนวณ เลื่อยไม้ ไสไม้ และทรงประกอบด้วยพระองค์เองทุกขั้นตอน ทรงใช้วิธีการที่ง่ายและประหยัดและทรงใช้วัสดุที่หาได้ในประเทศ ทรงประดิษฐ์คิดค้นให้เรือใบที่ทรงสร้างมีสมรรถนะสูง




ช่างวิทยุสื่อสาร
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระราชหฤทัยในวิชาการช่างไฟฟ้าและช่างวิทยุที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ด้วยทรงตระหนักในประโยชน์และความสำคัญทางด้านการสื่อสารตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาเพิ่มเติมจากการอ่านตำราและทดลองทำ เมื่อเสด็จครองสิริราชสมบัติแล้ว มีพระราชประสงค์จะทรงทราบข่าวคราวความทุกข์สุขของราษฎรที่อยู่ตามที่ต่างๆ ทั่ว ประเทศให้รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ สามารถพระราชทานคำแนะนำและความช่วยเหลือได้ แม้จะอยู่ห่างไกล ได้ทรงศึกษาหาความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในการสื่อสารทางวิทยุและโทรศัพท์ ทรงสามารถตรวจซ่อมปรับแต่ง เครื่องวิทยุด้วยพระองค์เองได้ ดังที่พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ผู้เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการสื่อสารกรมตำรวจ และได้เข้าปฏิบัติหน้าที่นายตำรวจสำนักเวร เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๑ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ โครงการพระดาบสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เขียนเล่าไว้ในเรื่อง "พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระภูมิพลอดุลยเดช มหาราชในด้านการสื่อสาร" ในวารสารสุโขทัยธรรมาธิราช ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๓ เดือนกันยายน - ธันวาคม ๒๕๓๙ หน้า ๑๑ - ๒๗ ว่า "... พระองค์ท่านทรงห่วงใย และมีพระราชประสงค์จะทรงทราบข่าวคราวทุกข์สุขของพสกนิกรอย่างรวดเร็วและตรง กับความเป็นจริง เพื่อจะได้ทรงช่วยเหลือบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ได้ทันการณ์ และทรงตระหนักดีว่า การสื่อสารทางวิทยุเป็นสื่ออย่างดีที่จะช่วยให้บรรลุพระราชประสงค์ในเรื่องนี้..." ได้ทรงใช้เครื่อง วิทยุติดต่อในข่ายวิทยุตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีศูนย์ควบคุมข่ายใช้สัญญาณเรียกว่า "ปทุมวัน"
ในการใช้เครื่องวิทยุเพื่อสื่อสารนั้น ได้ทรงทดลองและตรวจสอบสายอากาศทุกชนิด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับส่งสัญญาณจาก ที่ห่างไกล โดยปราศจากเสียงรบกวนไม่ว่าจะเสด็จพระราชดำเนิน ณ ที่ใด โปรดเกล้าฯ ให้ผู้มีความรู้และสนใจในเรื่องสายอากาศเป็นพิเศษเข้าเฝ้าฯ ถวายคำอธิบาย และพระราชทานกระแสพระราชดำริให้ไปทดลองค้นคว้าพัฒนาสายอากาศชนิดที่มีทิศทางและอัตราขยายกำลังสัญญาณสูงเป็นพิเศษ แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานแบบให้ ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจนำไปผลิตใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ระบบการสื่อสารของหน่วยงานหนึ่งๆ


หนึ่งในพระราชกรณียกิจ ตอน "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย"


กังหันน้ำชัยพัฒนา
ในการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ได้เกิดผลเสียแก่แหล่งน้ำหลายแห่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ผู้อาศัยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นอย่างมาก ไม่มีหน่วยราชการใดสามารถแก้ไขและบำบัดน้ำเสียในเขตชุมชนของกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ได้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชดำริแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมมือกันหาวิธีแก้ไข และบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีง่ายๆ และเหมาะสม ได้ทรงประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศทั้งผิวน้ำและในน้ำแบบหมุนช้าพระราชทานชื่อว่า "กังหันน้ำชัยพัฒนา" โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร ในพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศ เครื่องที่ ๙ ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย และเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการรับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรถวายแด่พระมหากษัตริย์
ที่มา:https://library.stou.ac.th/odi/king-and-technician-standard/index.html

logoline