svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

ไทยออยล์ รายงาน พายุเดลต้าในสหรัฐฯ และการหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานแท่นขุดเจาะกระทบอุปทานน้ำมันดิบ

12 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์ : ฉบับวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 38-43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 39-44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล





แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 12 - 16 ต.ค. 63)



ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังพายุเฮอริเคนเดลต้าพัดเข้าอ่าวเม็กซิโก สหรัฐฯ ส่งผลให้แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติหยุดดำเนินการชั่วคราว และมีแนวโน้มที่โรงกลั่นหลายแห่งในบริเวณอ่าวจะต้องหยุดดำเนินการตามไปด้วยหลังพายุเคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่ง นอกจากนั้นการหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในนอร์เวย์ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุปทานน้ำมันดิบในตลาดมีแนวโน้มปรับลดลง ท่ามกลางการกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของลิเบีย



ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:



1.ราคาน้ำมันดิบมีปัจจัยสนับสนุน หลังพายุเดลต้าทวีความรุนแรงขึ้นเป็นระดับ 3 (เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 63) ในบริเวณอ่าวเม็กซิโก สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นพายุลูกที่ 10 ที่ก่อตัวและทำความเสียหายต่อสหรัฐฯ ในปี 63 ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในรอบศตวรรษ โดยพายุเดลต้าได้ส่งผลกระทบต่อแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติหลายแห่งประมาณ 183 แท่น ทำให้ต้องหยุดดำเนินการผลิตน้ำมันดิบชั่วคราวราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน (คิดเป็น 80% ของการผลิตในบริเวณอ่าว) นอกจากนั้น Shell มีแผนจะอพยพและปิดโรงกลั่นสามแห่งในบริเวณดังกล่าว หากพายุเดลต้าเข้าสู่ฝั่ง



2.แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาตินอร์เวย์ ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การหยุดงานประท้วงของสหภาพลูกจ้าง Equinor ทำให้ปัจจุบันแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติต้องหยุดดำเนินการราว 330 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน คิดเป็นราวร้อยละ 8 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของนอร์เวย์ อย่างไรก็ตาม สหภาพลูกจ้างอาจยืดระยะเวลาการประท้วงหยุดงานออกไปจากกำหนดการเดิมในวันที่ 10 ต.ค. 63 เป็นวันที่ 14 ต.ค. 63 และอาจทำให้เกิดการหยุดงานประท้วงที่ Johan Sverdrup ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 0.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากข้อตกลงเรื่องค่าแรงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จะทำให้ส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลก



3.Saudi Aramco ประกาศราคาขาย Official selling price (OSP) ของน้ำมันดิบ Arab Light สำหรับขายมายังภูมิภาคเอเชีย เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ -0.40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เป็นการปรับเพิ่มขึ้น 0.10 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 63 ซึ่งสอดคล้องที่ตลาดคาดการณ์ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันโลกมีทิศทางค่อยๆฟื้นตัว แต่กำไรจากการกลั่นยังคงอยู่ในระดับต่ำ ราคา OSP ที่เหมาะสมควรจะอยู่ในระดับต่ำ



4.อุปทานส่วนเกินในตลาดยังถือว่าอยู่ในระดับสูงขึ้น หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก-13 เดือน ก.ย.63 เพิ่มสูงขึ้นราว 0.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับเดือน ส.ค. 63 โดยส่วนมากเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตจากประเทศลิเบีย ที่ได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงลดกำลังการผลิต และล่าสุดมีการผลิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังกองกำลังติดอาวุธได้บรรลุข้อตกลงกับรัฐบาล จึงทำให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบียกลับมาผลิตน้ำมันดิบและส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง



5.สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในปี 63 จะปรับลดลงราว 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับปี 62 สู่ระดับ 11.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบผันผวนและอาจอยู่ในระดับต่ำกว่าต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบ ขณะที่ในปี 64 คาดว่าปริมาณการผลิตจะปรับลดลงจากปี 63 อีกราว 0.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปอยู่ที่ระดับ 11.09 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ต.ค. 63 โดย EIA ปรับตัวสูงขึ้น 0.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 429.9 ล้านบาร์เรล ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.29 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้กำลังการผลิตของโรงกลั่นสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นร้อยละ 1.3 สู่ระดับร้อยละ 77.1 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น



6.ตลาดกังวลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกจากการรักษาตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 63 ได้ประกาศผ่านทางทวีตเตอร์ส่วนตัวว่า จะระงับการเจรจาแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ สำหรับอัดฉีดระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพื่อบรรเทาและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทรัมป์จะเปิดการเจรจารอบใหม่ จนกว่าจะจบการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 63



7.เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราการว่างงานของสหราชอาณาจักรเดือน ส.ค. 63 ดัชนีผู้บริโภคสหรัฐฯและจีนเดือน ก.ย. 63 ผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มยูโรโซนเดือน ส.ค. 63 รายงานจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ (Initial Jobless Claims) ณ สัปดาห์สิ้นสุด 9 ต.ค.63 การประชุมไอเอ็มเอฟ การดีเบตของประธานาธิบดีสหรัฐฯรอบที่ 2




สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 - 9 ต.ค. 63)



ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 40.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 42.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการหยุดดำเนินการผลิตของแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากการถล่มของพายุเดลต้า ในสหรัฐฯและการหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานที่แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในนอร์เวย์ ทำให้อุปทานน้ำมันดิบปรับลดลง อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลกยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุโรป ทำให้มีการบังคับใช้มาตรฐานปิดพื้นที่บางส่วน เพื่อลดการแพร่ระบาด ส่งผลกดดันความต้องการใช้น้ำมัน

logoline