svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

โพลล์ 93.3% เชื่อการเมืองเก่าหนุนม็อบลงถนน-จาบจ้วงสถาบัน

11 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจ "การเมืองใหม่ หรือ เก่า สาดสี" โดยร้อยละ 93.3 ระบุเป็นการเมืองเก่า นำมวลชนลงถนน เคลื่อนไหวนอกสภา สนับสนุนกลุ่มจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน จ้องโค่นล้มรัฐบาล โดยไม่สนใจว่าจะซ้ำเติมวิกฤตชาติ และความทุกข์ยากของประชาชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง การเมืองใหม่ หรือ เก่า สาดสี กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 5,260 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง 1 มิถุนายน 10 ตุลาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา

โพลล์ 93.3% เชื่อการเมืองเก่าหนุนม็อบลงถนน-จาบจ้วงสถาบัน


เมื่อถามถึง การเมืองของพรรคการเมืองต่าง ๆ วันนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.3 ระบุเป็นการเมืองเก่า เพราะนำมวลชนลงถนน เคลื่อนไหวนอกสภา สนับสนุนกลุ่มจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน เสาหลักของชาติ สาดสี เสียดสี พ่นสี จ้องโค่นล้มรัฐบาล ไม่สนใจ ว่าจะซ้ำเติมวิกฤตชาติและทุกข์ยากของประชาชน ขอให้พรรคพวกตนขึ้นมีอำนาจ ปล่อยต่างชาติเข้าแทรกแซงสั่นคลอนประเทศ ยังไม่มีผลงานแต่จะเข้ามาทำงาน กลุ่มการเมืองระดมทุนบริจาคจากประชาชนไปช่วยเหยื่อโควิดแต่เอาไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟกักเก็บไว้จ่ายประชาชนไม่หมด ยังเห็นการทำงานการเมืองแบบเดิม ๆ ในขณะที่ ร้อยละ 6.7 ระบุเป็นการเมืองใหม่ เพราะ มีคนรุ่นใหม่ นโยบายใหม่ มาตรการใหม่ สถานการณ์ใหม่ช่วงโควิด-19 มีประเด็นใหม่ ใช้เทคโนโลยีโซเชียลมีเดียทำงานการเมือง เป็นต้น

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อเปรียบเทียบแนวโน้ม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง ต้นตุลาคม 2563 ต่อพรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือกตั้ง ถ้าวันนี้เลือกตั้ง พบว่า ในเดือนมิถุนายน พรรคอันดับหนึ่งได้แก่ พรรค ก้าวไกล (อนาคตใหม่เดิม) ร้อยละ 11.7 และเพิ่มขึ้นอีกในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 13.0 แต่ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน ปลายเดือนกันยายน จนถึงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สัดส่วนของผู้ตั้งใจจะเลือกพรรคก้าวไกล หรือ อนาคตใหม่เดิม ร่วงหล่นลงมาตามลำดับจากร้อยละ 13.0 ในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 5.9 ในต้นเดือนกันยายน ร้อยละ 2.4 ในปลายเดือนกันยายน และร้อยละ 1.2 ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในขณะที่พรรคเพื่อไทย ช่วงเดือนมิถุนายนอยู่ที่ร้อยละ 10.8 เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ร้อยละ 9.3 ต้นเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 5.4 ปลายกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 2.3 แต่ ต้นตุลาคมขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.9
ที่น่าสนใจคือ พรรคพลังประชารัฐ ช่วงเดือนมิถุนายนอยู่ที่ร้อยละ 9.4 กรกฎาคมอยู่ที่ร้อยละ 10.9 ต้นกันยายน (ช่วงถูกอภิปราย) กลับสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 18.8 แต่ปลายกันยายนตกหล่นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.9 แต่ต้นตุลาคมขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 6.1ส่วนพรรคอื่น ๆ ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน อื่น ๆ สัดส่วนไม่แตกต่างกันนักในแต่ละช่วงเดือนที่ทำการสำรวจ อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ ทุกช่วงเวลาสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ต้องการพรรคการเมืองใหม่แท้จริง ไม่เป็นต้นตอของความขัดแย้งของคนในชาติ ไม่ล่วงละเมิดร่วมมือกับต่างชาติสั่นคลอนสถาบัน เสาหลักของชาติ ซื่อสัตย์ ไม่แย่งตำแหน่ง ทรยศหักหลังกัน มีผลงานช่วยเหลือประชาชนได้จริง และอื่น ๆ คือสัดส่วนเดือนมิถุนายนอยู่ที่ร้อยละ 57.0 เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ร้อยละ 59.6 ต้นกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 62.9 ปลายกันยายน พุ่งสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 84.0 และต้นตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 81.9

ที่น่าสนใจคือ ความเป็นจริงในโลกโซเชียล พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.8 ใช้อินเทอร์เน็ต ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 17.2 ไม่ได้ใช้ และที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.3 ไม่ใช้ทวิตเตอร์ (Twitter) ทวีต รีทวีต เรื่องการเมืองเลย ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา มีเพียงร้อยละ 5.7 เท่านั้นที่ใช้ ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.7 ไม่เคยใช้เฟซบุ๊ก (Facebook) โพสต์ แชร์ เรื่องการเมืองเลย ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา มีเพียงร้อยละ 5.3 เท่านั้นที่ทำ ยิ่งไปกว่านั้นอีก ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.0 ไม่เคยใช้ อินสตาแกรม (IG) โพสต์อะไรเรื่องการเมืองเลย ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ทำ
อย่างไรก็ตาม ที่น่าขบคิดคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.0 ระบุ ถือว่าเป็นการแทรกแซงประเทศไทยที่มีการออกมาเคลื่อนไหวของ บริษัทโซเชียลมีเดียข้ามชาติ บางบริษัท เรื่องการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองต่างชาติบางประเทศ กับการแทรกแซงการเมืองและเรื่องละเอียดอ่อนกระทบจิตใจของคนไทย ในขณะที่ ร้อยละ 16.0 ไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซง ยิ่งไปกว่านั้น ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.8 ระบุ น่ารังเกียจ ที่มีการออกมาเคลื่อนไหวของ บริษัทโซเชียลมีเดียข้ามชาติ บางบริษัท เรื่องการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองต่างชาติบางประเทศ กับการแทรกแซงการเมืองและเรื่องละเอียดอ่อนกระทบจิตใจของคนไทย

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้มีสองประเด็นใหญ่ ๆ ให้คนไทยทั้งประเทศช่วยกันขบคิด พิจารณา คือ คะแนนความนิยมของทุกพรรคการเมืองร่วงหล่นน่าจะเกิดจากต่างพรรคต่างมีเหตุปัจจัยที่ก่อกรรมแตกต่างกัน คือ พรรคก้าวไกล กับ พรรคเพื่อไทย อาจมีภาพของการเข้าร่วมสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มบุคคลที่ล่วงละเมิดจาบจ้วง สั่นคลอนเสาหลักของชาติ เป็นต้นตอแห่งความขัดแย้งรุนแรงบานปลายของคนในชาติ ร่วมมือกับต่างชาติ สั่นคลอนประเทศ ซ้ำเติมวิกฤตชาติและทุกข์ยากของประชาชน ที่หลายคนมองว่า แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวน่าจะได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวจากแหล่งสนับสนุน แต่ประชาชนทั่วไปไม่ได้ประโยชน์อะไร จะมีประโยชน์อะไรถ้าชนะบนซากปรักหักพังของชาติและประชาชน ส่วนที่พรรคพลังประชารัฐคะแนนนิยมที่ตกลงนั้นพบว่ามีสาเหตุจาก ปมแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ข้อมูลความเป็นจริงในโลกโซเชียลน่าจะถูกพิสูจน์จากผลการศึกษาครั้งนี้ได้ว่า จำนวนคนที่ ทวีต รีทวีต โพสต์ แชร์ ในโซเชียลมีเดียในเรื่องการเมืองเป็นคนไทยในประเทศไทย เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น หรือประมาณการจากจำนวนคนไทยที่ถูกศึกษาครั้งนี้ทั้งหมดประมาณ 2 3 ล้านคนเท่านั้นจาก กลุ่มเป้าหมาย 50 กว่าล้านคน และในจำนวนประมาณ 2 3 ล้านคนที่ใช้โซเชียลมีเดียเรื่องการเมือง ก็มีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ สนับสนุนรัฐบาล ไม่สนับสนุนรัฐบาล และ พลังเงียบ ไม่ใช่จะอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว
"ดังนั้น จำเป็นต้องให้คนไทยทั้งประเทศรู้ความเป็นจริงในโลกโซเชียลจริง ๆ และต้องส่งสัญญาณไปยังกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กำลังปั่นกระแสในโลกโซเชียลที่ทั้งหลอกตัวเองและปั่นกระแสให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายสร้างความแตกแยกของคนในชาติตนเอง กลุ่มโซเชียลมีเดียข้ามชาติ เจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติ นักการเมืองต่างชาติ ควรหยุดคุกคามจิตใจของคนไทยและหยุดสั่นคลอนเสาหลักของชาติและของประชาชนคนไทย คนไทยบางคนและต่างชาติกำลังมุ่ง บอนไซ ประเทศไทยไม่ให้โตไปกว่านี้เพราะถ้าแข็งแกร่งกว่านี้ ประเทศไทยจะยิ่งใหญ่และเกินกว่าที่พวกเขาจะควบคุมได้ โดยสรุป คนไทยทุกคนควรจะหันหน้าหารือกันด้วยสันติวิธี ด้วยความสงบสุข คำนึงถึงผลประโยชน์ชาติ ไม่ก่อความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย ทำลายชาติบ้านเมืองและความอยู่เย็นเป็นสุขของคนไทยด้วยกันเอง" ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา กล่าว






logoline