svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดตัว "Re-solution" ผลักดัน รธน.ใหม่

11 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดตัว "Re-solution" ผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ยัน! ยกเลิกวุฒิสภา-สังคายนาองค์กรอิสระให้ยึดโยงประชาชนที่เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการสถาปนากฎหมายสูงสุด

ที่ห้องเอนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เปิดตัวกลุ่ม "Re-solution : ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่" ความร่วมมือกันของ 4 เครือข่ายด้านรัฐธรรมนูญ ได้แก่ คณะก้าวหน้า, กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (Con Lab), พรรคก้าวไกล, และกลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ทั้ง 4 องค์กรร่วมตัวก่อตั้ง กลุ่ม "Re-solution : ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่" เพื่อเดินหน้าแสวงหาฉันทามติใหม่ร่วมกัน


โดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวเสวนาเป็นคนแรกถึงประเด็น Rethink ถึงเวลาอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ ว่า ในวันนี้เมื่อ 23 ปี ที่แล้ว ประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ยอมรับเป็นฉันทามติกันว่า เป็นฉบับประชาชน ฉบับปฏิรูปการเมืองและเป็นผลพวงการต่อสู้ของประชาชน แต่ใช้ไประยะหนึ่งก็ถูกทำลายลงและยังไม่มีฉันทามติใหม่เกิดขึ้นอีก 



นายปิยบุตร ยืนยันว่า ในสังคมประชาธิปไตยนั้น อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน ซึ่งอำนาจนี้ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด หากมีข้อบกพร่องก็ใช้กระบวนการแก้ไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ แต่การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไทยทั้ง 20 ฉบับที่ผ่านมา ล้วนใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญหรือการรัฐประหารแทบทั้งสิ้น ขณะที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันถูกออกแบบมาให้แก้ไขได้ยาก ขณะที่อารมณ์ของผู้คนและสังคมที่สะสมกำลังมาตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพในการต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ 



นายปิยบุตร กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าสถานการณ์สุกงอมจนถึงขั้นรัฐธรรมนูญ 2560 หมดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิงหรือมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ทุกคนต้องช่วยกันยืนยันว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน และถึงเวลายุติรัฐธรรมนูญ ที่เป็นวงจรแห่งการแก้แค้นเอาคืน อย่างรัฐธรรมนูญปี 2449,2550,และ 2560 ซึ่งจะเป็นการยืนยันปัญหาตั้งแต่ 2475 มาจนวันนี้แล้วยังเคลียร์กันไม่จบ คืออำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของใคร? หรือประเทศนี้ใครเป็นเจ้าของ

ขณะเดียวกันนายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ หรือ ไอติม ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (Con Lab) กล่าวถึงประเด็น Remove ถึงเวลาสภาเดี่ยว ว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาทั้ง ที่มา, กระบวนการได้มาและเนื้อหา ทำให้ประชาธิปไตยและพัฒนาการทางการเมืองของไทยถดถอยลงไปกว่า 20 ปี และเมื่อพูดถึงการแก้ไข จะเลี่ยงไม่พูดถึง ส.ว.ไม่ได้ เพราะนอกจากเป็นเงื่อนไขการสืบทอดอำนาจรัฐประหารแล้ว ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ยังมีความวิปริตอย่างน้อย 5  ประการที่ต้องกำจัด คือ 1.) อำนาจเรื่องนายกรัฐมนตรี // 2.) ขัดขวางได้ทุกการปฏิรูปควบคุมได้ทุกโครงสร้าง // 3.) ที่มาด่างพร้อยและไร้มาตรฐาน // 4.) ขาดความหลากหลายและเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ และ 5.) บกพร่องในหน้าที่การตรวจสอบถ่วงดุล


ทั้งนี้ นายพริษฐ์ ยืนยันว่า ถึงเวลาที่ไทยต้องเดินไปข้างหน้าด้วยการมีสภาเดี่ยวหรือไม่ต้องมีวุฒิสภา ซึ่งมีข้อดีกว่าการมีสภาคู่ 5 ข้อคือ  1.) ทันใจกว่าในการออกกฎหมาย // 2.) ประหยัดกว่าในการใช้งบประมาณ // 3.) เสียเวลาน้อยกว่าในการออกแบบ //4.) เป็นประชาธิปไตยกว่าในโครงสร้างทางการเมือง และ 5.) เป็นทางเลือกที่นิยมกว่าในกระแสโลกปัจจุบัน


ส่วนหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร และถอดถอนนักการเมืองนั้น ต้องเพิ่มอำนาจของประชาชน, การกระจายอำนาจ และเปิดเผยข้อมูลของรัฐให้เข้าถึงได้ง่าย รวมถึงเพิ่มพื้นที่ให้ผู้มีความเชี่ยวชาญในกรรมาธิการต่างๆ ส่วนการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ก็ควรเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร โดยอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ต้องได้เสียงข้างมากทั้งจาก ส.ส.ฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน และส่วนที่มีการกังวลว่า จะอันตรายหากไม่มี ส.ว.มาตรวจสอบฝ่ายบริหารนั้น นายพริษฐ์ มองว่า สิ่งที่อันตรายกว่าคือ การมี ส.ว.ที่รับรองการกระทำทุกอย่างของฝ่ายบริหาร อย่างที่เป็นม่และเป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทางด้านของนายรังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นเวลารื้อศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ว่า  ควรเสนอศาลรัฐธรรมนูญให้มีองค์ประกอบ 9 คนเหมือนเดิม ซึ่ง 3 คนมาจากการเลือกจากส.ส.ฝ่ายรัฐบาล อีก 3 คนมาจากการเลือกของส.ส.ฝ่ายค้าน และอีก 3 คนให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอชื่อมา และให้ศาลปกครองเสนอชื่อมาอีก 3 คน จากนั้นใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 จากสมาชิกสภผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกให้เหลือ 3 คน 



ขณะที่เสนอให้องค์กรอิสระทุกองค์กร ประกอบไปด้วยผู้ดำรงตำแหน่ง 5 คน ซึ่ง 2 คนมาจากการเลือกของส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คนถัดมา มาจากการคัดเลือกของส.ส.ฝ่ายค้าน และ 1 คนให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอชื่อมารวมถึงให้ที่ประขุมใหญ่ศาลปกครองเสนอชื่อมาอีก 1 คน และใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกให้เหลือ 1 คนเช่นกัน 


ทั้งนี้ตนมองว่าศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต้องมีกระบวนการถอดถอนได้ โดยใช้เสียงข้างมาก 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ถอดถอน เพราะที่ผ่านมาเรามีบทเรียนที่เราเชื่อมั่นองค์กรที่คิดว่าดีกว่าองค์กรนักการเมืองดีกว่า แต่สุดท้ายองค์กรอิสระกลับไม่ได้อิสระจริงๆ อย่างไรก็ตามการมีศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระยังจำเป็น เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล แต่ถ้าปล่อยให้องค์กรเหล่านี้เลือกกันเองชงกันเอง บ้านเมืองเราในอนาคตก็จะไม่แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นเราจะปล่อยให้บ้านเมืองของเราเป็นแบบเดิมหรือไม่ วันนี้จึงเป็นเวลาและโอกาสในการเปลี่ยนแปลง



ขณะที่นายยิ่งชีพ อัชชานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวถึงประเด็น Restart สสร.ใหม่ ยังไงดี? ว่า สำหรับกระบวนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนั้น แม้ว่าภายในเดือนพฤศจิกายน นี้ สภาฯจะโหวตรับข้อเสนอการตั้ง สสร. แต่จากนั้นยังต้องผ่านกระบวนการต่างๆ และใช้เวลาอีกนานกว่าจะผ่านวาระ 2 และวาระ 3 จากนั้นยังต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชน 



นอกจากนั้นการประกาศใช้อาจมีขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญอีกขั้น รวมทั้งกระบวนการเลือกตั้งสสร. เมื่อสสร.ร่างเสร็จ ก็ยังต้องผ่านประชามติ ถือเป็นขั้นตอนอีกยาวนาน ซึ่งใน 3 ปีข้างหน้ารัฐบาลประยุทธ์ ก็ยังอยู่ในสถานะต่อไปตามกลไกรัฐธรรมนูญปี 60 อาจครบเทอมหรือเลยเทอม ดังนั้นเราต้องค่อยๆ เปิดทางสู่ประชาธิปไตย โดยการรื้อ-สร้าง-ร่าง คือ รื้ออำนาจกระบอบคสช. สร้างหนทางกลับสู่ประชาธิปไตย และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของทุกคน โดยย้ำว่าสสร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 % ไม่มีโควต้าพิเศษผู้ทรงคุณวุฒิใดๆทั้งสิ้น และหากมีการเลือกตั้งสสร. ต้องไม่มีการแบ่งเขตจังหวัด เพราะอาจมีคนที่เป็นพื้นที่อิทธิพลของตัวเองอยู่ ดังนั้นควรใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง

logoline