svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ความจริงของ "ไอโอ" ยุคโซเชียลฯครองโลก

10 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รายงานของทวิตเตอร์ที่อ้างว่าพบบัญชีผู้ใช้ในไทย เป็นเครือข่ายไอโอที่เชื่อมโยงกับรัฐและกองทัพบกถึงเกือบ 1,000 บัญชี จนต้องแจ้งปิดนั้น ได้ถูกนำมาขยายผลจากฝ่ายการเมืองทันที อย่างเมื่อวานก็มีโฆษกสาวของพรรคเพื่อไทยที่ออกมาแถลงเรื่องนี้ ตามด้วย ส.ส.พรรคก้าวไกลที่โพสต์ตอกย้ำ และล่าสุดก็คือหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับประธานคณะก้าวหน้า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

แต่อีกด้านหนึ่งก็มีการตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรายงานของทวิตเตอร์ด้วยเช่นกัน เช่น

- เหตุใดทวิตเตอร์ และ ศูนย์นโนบายไซเบอร์ Stanford Internet Observatory ถึงออกรายงานมาในลักษณะพุ่งเป้ามาที่ประเทศไทยโดยตรง และลงรายละเอียดปัญหาภายในของไทยอย่างละเอียด ทั้งๆ ที่ในรายงานก็บอกเองว่าเครือข่ายที่ทวิตเตอร์อ้างว่าเป็น "ไอโอ" นั้น เป็นปฏิบัติการที่สร้างผลกระทบต่ำ

ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคำถามว่า จริงหรือที่บางประเทศใน 5 ประเทศที่ถูกตรวจสอบ มีบัญชีไอโอที่เชื่อมโยงกับรัฐน้อยกว่าไทย หรือว่าทวิตเตอร์ยังตรวจไม่พบกันแน่ / บ้างก็สงสัยว่าประเทศที่ถูกตรวจสอบมีอยู่เท่านี้หรือ สหรัฐอเมริกาในฐานะ "เจ้าตำรับไอโอ" ไม่มีการใช้ไอโอบ้างเลยหรืออย่างไร และทวิตเตอร์ใช้หลักเกณฑ์อะไรที่นำมาสู่ข้อสรุปว่าแอคเคาท์เหล่านั้นทวีตข้อความบิดเบือน



ขณะที่จังหวะเวลาของการเปิดรายงานชิ้นนี้ในพื้นที่สื่อ ก็ถูกตั้งคำถามเช่นกัน โดย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกัณฑ์ รัฐมนตรึว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ รัฐมนตรีดีอี กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจที่ทวิตเตอร์ออกมาเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ และโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ แทนที่จะดำเนินการตามคำสั่งศาลไทยที่ให้ปิดกั้นหรือลบบัญชีของผู้ที่โพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันหลักของชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมได้ส่งคำสั่งศาลไปแล้ว แต่ทวิตเตอร์ยังเพิกเฉย ไม่ทำการลบให้จำนวน 65 รายการ และอีก 1 ชุดที่กำลังจะส่งไปเพิ่มเติม อีกจำนวน 253 รายการ

นายพุทธิพงษ์ ยังเรียกร้องไปยังทวิตเตอร์ให้ดำเนินการตามคำสั่งศาลและเคารพกฎหมายไทยอย่างจริงจัง เพื่อแสดงความจริงใจในการทำงานที่โปร่งใสของทวิตเตอร์เอง

จากการตรวจสอบของเนชั่นทีวี พบว่า "ไอโอ" ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Information Operations หรือ "ปฏิบัติการข่าวสาร" ซึ่งในอดีตถูกนำมาใช้ชิงความได้เปรียบในการรบหรือการทำสงครามหลักการสำคัญของ "ไอโอ" คือการเผยแพร่ความคิดและความเชื่อของ "ฝ่ายเรา" ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และทำให้เกิดความคิดความเชื่อคล้อยตามความประสงค์ของ "ฝ่ายเรา" ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางระงับยับยั้ง ขัดขวาง หรือทำลายศักยภาพด้านการ "ไอโอ" ของฝ่ายตรงข้าม หรือ "ฝ่ายศัตรู" เพื่อไม่ให้สามารถเผยแพร่ความคิดความเชื่อต่อกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมายของ "ฝ่ายเรา" ได้



ส่วนวิธีการเผยแพร่ความคิดความเชื่อที่สามารถส่งถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด แน่นอนว่าจำเป็นต้องพึ่งพาสื่อทุกชนิด ฉะนั้นในอดีต ฝ่ายที่ทำไอโอได้จึงเป็น "ฝ่ายรัฐ" เพราะคุมสื่อแทบทุกชนิดอยู่ในมือ แต่ในยุคปัจจุบันมีโซเชียลมีเดีย หรือ "สื่อสังคมออนไลน์" ที่ทุกคนเป็นสื่อและผลิตสื่อได้ด้วยตนเอง ทำให้งาน "ไอโอ" ไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ภาครัฐอีกต่อไป ฉะนั้นหากใครมีขีดความสามารถ หรือ "ทักษะ" ในการใช้สื่อประเภทต่างๆ ได้มากกว่า ก็จะทำไอโอได้เหนือกว่าอีกฝ่าย

ที่สำคัญ ความเชี่ยวชาญการใช้ "สื่อใหม่" หรือ "นิวมีเดีย" ยังสามารถระงับหรือขัดขวางการ "ไอโอ" ของฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย เช่น วิธี report หรือวิธีใช้คนจำนวนมากเข้าไปใช้เว็บ เพจเฟซบุ๊ค หรืออินสตราแกรมของฝ่ายตรงข้ามพร้อมๆ กันจนเว็บหรือเพจล่ม หรือถ้าเป็นระดับมืออาชีพมากกว่านั้นอาจใช้การโจมตีด้วยไวรัส หรือ บ็อท (robot) กันเลยทีเดียว

สถานการณ์จริงของไอโอ ณ ปัจจุบันนี้ก็คือ คนทั่วๆ ไปที่มีความรอบรู้ในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพิเศษ อาจมีความสามารถในการทำ "ไอโอ" เหนือกว่าหน่วยงานรัฐบางหน่วยที่ยังมีบุคลากรด้านนี้น้อย หรือบุคลากรไม่พัฒนาตัวเองด้วยซ้ำ

นี่คือความซับซ้อนของ "ไอโอยุค 5จี" ทำให้สิ่งที่เห็น บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็น และทำให้หลายคนแปลกใจว่าเหตุใดทวิตเตอร์จึงจำกัดวงการตรวจสอบเฉพาะไอโอที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐเท่านั้น ทั้งๆ ที่ไอโอจากเครือข่ายในรูปแบบอื่น อาจสร้างความเสียหายมากกว่าด้วยซ้ำ

logoline