svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"จตุพร"เตือนม็อบทบทวนใหม่หลังเปลี่ยนข้อเรียกร้อง

09 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"จตุพร พรหมพันธุ์" ประเมิน 3 ข้อเรียกร้องใหม่คณะราษฎร 63 เป็นไปได้แค่ 2 ข้อที่ชอบธรรม ส่วนข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ เตือนต้องคิดให้รอบคอบ ชี้เป็นเส้นแบ่งบางๆละเอียดอ่อน หวั่นชุมนุม 14 ตุลา ลงท้ายเป็น 6 ตุลา

10 ตุลาคม 2563 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา ถึงข้อเรียกร้องใหม่ของคณะราษฎร 2563 ที่เสนอให้ปฏิรูปสถาบัน จะเป็นเส้นบางๆ ซึ่งน่ากังวลอย่างยิ่ง และขอเตือนให้คิดวิธีแก้ไข เปลี่ยนใหม่ในการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค.นี้

ทั้งนี้ การที่คณะราษฎร 2563 จะจัดชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. ได้แถลงเป้าหมาย 3 ข้อ ซึ่งรวมเอาข้อเรียกร้องของกลุ่มปลดแอกกับกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมเข้าด้วยกัน แล้วเป็นข้อเรียกร้องใหม่ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีลาออก เปิดประชุมสภาวิสามัญแก้ รัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันฯจากข้อเรียกร้องเดิมให้ยุบสภา แล้วเปลี่ยนใหม่เป็นให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น มีนัยแตกต่างกัน

นายจตุพร กล่าวว่า เพราะการยุบสภา คือ คืนอำนาจให้ประชาชน แต่การให้นายกฯลาออก เท่ากับสภาฯยังมีอำนาจเลือกนายกฯใหม่ ตามบัญชีรายชื่อบุคคลที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอไว้ในช่วงเลือกตั้งทั่วไปดังนั้น การเรียกร้องให้นายกฯลาออก จึงเป็นการปิดประตูพรรคพลังประชารัฐ เพราะได้เสนอชื่อนายกฯเพียงคนเดียวในบัญชีแรก คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ส่วนพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อบัญชีแรก 3 คน คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายชัยเกษม นิติสิริ พรรคภูมิใจไทย เสนอ นายอนุทิน ชาญวีระกูล และพรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนเดียว ซึ่งตามบทบญญัติของ รัฐธรรมนูญ 2560 ถ้าชื่อนายกฯ บัญชีแรก ไม่สามารถโหวตเลือกได้ คนเป็นนายกฯ ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา เพื่อเลือกบุคคลภายนอก หรือนอกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเสนอไว้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขปกติตามรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาตามกลไกของรัฐธรรมนูญ การเลือกนายกฯในบัญชีแรก ต้องพิจารณาจากชื่อที่พรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ได้เสนอไว้ ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งถูกตัดสิทธิ์การเมือง 10 ปี ไม่อาจถูกเลือกเป็นนายกฯได้ เนื่องจากถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงข้อเรียกร้องจากยุบสภา มาให้นายกฯลาออก กระดานการเมืองเรื่องนายกฯใหม่ จึงอยู่ในรายชื่อตามปรากฎ

"จตุพร"เตือนม็อบทบทวนใหม่หลังเปลี่ยนข้อเรียกร้อง



"เนื่องจากรัฐธรรมนูญยังไม่ได้แก้ไข ดังนั้น จึงแตกต่างจากการยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนได้ตัดสินใจกันใหม่คณะราษฎร ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลว่าทำไม จึงเปลี่ยนมาให้นายกรัฐมนตรีลาออก แต่ผมเคารพการตัดสินใจ เพราะเป็นสิทธิ์ เสรีภาพ และตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย สามารถเรียกร้องกันได้" ประธาน นปช. ระบุ

ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้มีร่าง 6 ญัตติ ที่อยู่ในกระบวนการของสภาฯ สำหรับร่างแก้ไขฉบับประชาชนยังไม่ถูกบรรจุในสภาฯ โดยหลังการอภิปรายของสภาฯแล้ว กลับไม่มีการโหวตรับร่างแก้ใดในวาระแรก แต่ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.จับมือกันเล่นหักดิบเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาเนื้อหาการแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในการประชุมสภาฯ ของไทยมาก่อน และส่วนตัวเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ถ้ารัฐบาลไม่โลภเกินไปแล้วจะได้ประโยชน์ แต่เมื่อโลภจะทำให้เสียไปหมด เพราะอย่างน้อย ถ้ายอมให้แก้ประเด็นนี้ ก็ถูกดึงออกจากกองไฟในสถานการณ์สุมปัญหาขณะนี้"ในวันนี้ถ้าประเทศไทยถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงจริง ตามวิถีทางประชาธิปไตย ความเห็นผม คือ ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน แล้วเลือกตั้งท้องถิ่น ส.ส. และทำประชามติในคราวเดียวกันทั้งหมดในวันเดียว ก็จ่ายเงินงบประมาณก็เป็นคราวเดียว ผมไม่เชื่อว่า คนไทยโง่ ถึงขนาดไม่รู้ว่า จะโหวตแยกกันอย่างไร" ประธาน นปช. กล่าว

ส่วนข้อเรียกร้องถึงสถาบันในการชุมนุมเมื่อ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่สนามหลวง ซึ่งเนื้อหาหลักในการอภิปรายบนเวที 90% เป็นการปฏิรูป เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเพียง 10% จึงรู้ถึงเป้าหมาย ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล ทำให้รัฐบาลลอยตัวไป แม้ข้อเรียกร้องได้ปรับเปลี่ยนก็ตามแล้ว แต่ท่วงทำนองและบริบทการปฎิรูปสถาบันยังถูกใช้เป็นหลักอยู่ อีกทั้ง การชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. ซึ่งจะมีพิธีที่วัดพระแก้วพระบรมมหาราชวัง ถนนราชดำเนิน ในช่วงปกติจะเป็นเส้นทางขบวนเสด็จ กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการชุมนุมเมื่อพฤษภา 2535 ผู้ชุมนุมต้องเปิดสองข้างทางให้ขบวนเสด็จ แล้วเปล่งเสียงทรงพระเจริญ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

"จตุพร"เตือนม็อบทบทวนใหม่หลังเปลี่ยนข้อเรียกร้อง



"เพียงสถานการณ์ในคราวนี้มีความแตกต่างกัน นี่เป็นเส้นบางๆที่มีความละเอียดอ่อนมาก เพราะหลากหลายเรื่องราว อะไรที่มากเกินไปนั้น คิดว่าบวกก็จะกลายเป็นลบ ผมจึงไม่อยากวิพากษ์ แต่หลายเรื่องควรมีหลักมีสติเหมือนกัน คนเราเมื่อมีความรักกันจริงก็ต้องเตือนกันอย่างมีสติ ประเภทยุส่ง ผมเชื่อว่าไม่มีความรักกันจริง" นายจตุพร กล่าว

นายจตุพร กล่าวย้ำว่า หลายเรื่องได้เลยเถิดมามาก แต่ถ้าเอาประเด็นเกี่ยวข้องกับสามัญชนด้วยกันทุกอย่างจะเรียบร้อย ถ้าเลยเถิดจึงเป็นการจำกัดแนวร่วม เมื่อเรียกร้องให้สถาบันอยู่เหนือการเมือง นั่นแปลความว่าพสกนิกรต้องเทิดไว้เหนือหัว จึงไม่ควรดึงลงมาอยู่ในสนามการเมือง ส่วนความเห็นต่างกันให้เป็นเรื่องสามัญชน

"ผมพูดเช่นนี้ จะมีความไม่เข้าใจผมอยู่ แต่ในตอนท้ายแล้วจะเข้าใจว่าทำไมผมจึงพูดและเตือนเช่นนี้ เพราะผมเป็นผู้นำนักศึกษามา และการต่อสู้ในสนามผมไม่เคยหนีก่อน ไม่ขี้ขลาดตาขาว ที่เตือนไว้ทั้งหมด คือ สองข้อแรก ประชาชน พรรคการเมืองมีสิทธิจะเข้าไปร่วม แต่ข้อที่สามผมมีความวิตกกังวล" นายจตุพรกล่าวและว่า สถานการณ์ในวันที่ 14 ต.ค. เส้นแบ่งบางๆในความรู้สึกควรระมัดระวังให้มากที่สุด เรื่องบางเรื่องไม่ควรทำ ดังนั้น ช่วงไม่กี่วันนี้ ควรคิดวิธีแก้ไขใหม่ ถ้าคิดว่าได้เปรียบ อาจจะเกิดอาการหุ้นตกอย่างราบคาบก็ได้

อย่างไรก็ตาม เวทีปราศรัยต้องเป็นไปตามแนวที่ประกาศ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ไม่ว่าจะคิดหรือทำอะไร ต้องบอกความจริงกับประชาชน เพราะความซื่อสัตย์ต่อผู้ร่วมชะตากรรม เป็นเรื่องใหญ่กับการต่อสู้ ส่วนข้อเรียกร้องที่มีการปรับเปลี่ยนขึ้นมาใหม่ เป็นเสรีภาพ ส่วนข้อที่สามจะกลายเป็นปัญหา จึงเตือนสติว่า สองข้อแรกชอบธรรม ในข้อที่สามนั้น ประกอบกับมีเส้นแบ่งบางๆตามเส้นทางขบวนเสด็จแล้ว ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ขออย่าทำให้ 14 ตุลา เป็น 6 ตุลา

logoline