svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"จตุพร"ถามม็อบนัดชุมนุม14ต.ค.เป้าหมายต้องการอะไร

08 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"จตุพร" กังวลม็อบนัดชุมนุม 14 ต.ค. แต่ชูเนื้อหาเหมือน 6 ตุลา หวั่นเกิดการสูญเสีย ชี้สองเหตุการณ์อดีตแตกต่างกัน นำมาผสมสร้างเป็นเนื้องานเดียวกันไม่ได้ กังวล 10 ข้อปฏิรูปทะลุเพดาน นำย้อนรอยฝ่ายตรงข้ามสวมบทอำมหิต ไร้ปราณี กระตุกสำนึกการเมือง "ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย" ถอนตัวร่วมรัฐบาล ถอดสลักวิกฤตก่อนสายเกินแก้

8 ตุลาคม 2563 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ส่วนตัวกังวลการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. จะมีบรรยากาศและเนื้อหาแบบ 6 ต.ค. ซึ่งนำความแตกต่างของสองเหตุการณ์ชุมนุมมาร่วมด้วยกัน แล้วจะจบลงท้ายด้วยความสูญเสีย จึงน่าห่วงใย เพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 ความตายเกิดขึ้น เพราะมีคนไม่ต้องการให้การชุมนุมยุติโดยระหว่างทางเลิกชุมนุมกลับบ้าน เกิดการปะทะกันขึ้นจนนำไปสู่การฆ่ากัน แล้วทำให้ผู้มีอำนาจขณะนั้นสูญเสียความชอบธรรมไป

ทั้งนี้ ส่วน 6 ตุลา 19 มีการแยกสลายขบวนการนักศึกษารุ่น 14 ตุลาออกไป แต่สิ่งสำคัญ คือ ความต่อเนื่องกับการเก็บเกี่ยวชัยชนะโดยไม่คิดถึงอีกฝ่ายหนึ่งได้เตรียมการอะไรไว้ และมีความอำมหิตอย่างไร กระทั่งเมื่อคนพวกนั้นลงมือจึงเกิดปรากฎการณ์ล้อมฆ่า อย่างไร้ปราณีต่อคน 6 ตุลา 19 ดังนั้นความรู้สึกของคน 6 ตุลานั้น มีความเจ็บปวด เจ็บแค้นจากการถูกกระทำอย่างเหี้ยมโหด แม้มีคนตายน้อยกว่า 14 ตุลา แต่สองเหตุการณ์นี้เรียกได้ว่า เป็นหนังคนละม้วนแตกต่างกันไป

"โดย 14 ตุลา การชุมนุมเรียกร้องเสรีภาพ ประชาธิปไตย อีกทั้งการจัดรูปขบวนเป็นดังแสดงถึงความจงรักภักดี แต่ขบวน 6 ตุลา กลับถูกป้ายสีด้วยการแต่งภาพแขวนคอ แล้วกล่าวหาผู้ชุมนุมเป็นกลุ่มคนจ้องล้มสถาบันผมนำเรื่องนี้มากล่าวถึง เพราะการชุมนุมในวันที่ 13 ต.ค. 2563 นั้น ผมยังถามอยู่เสมอว่า ต้องการอะไร ต้องการไล่รัฐบาล ต้องการรัฐธรรมนูญ หรือต้องการนอกเหนือจากนี้ไป แต่เนื้อหาจะเป็นตัวอธิบายว่า การชุมนุมต้องการอะไร" นายจตุพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ชุมนุมโดยพุ่งเป้าไปที่ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปนั้น แปลความถึงไม่ได้ไล่รัฐบาล ไม่ต้องการรัฐธรรมนูญ จึงเท่ากับไปสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลได้อยู่ต่อไป ดังนั้น จึงถามเสมอว่าเพื่ออะไร เพราะประชาชนมาร่วมการต่อสู้ ต้องรู้เป้าหมายการชุมนุม ถ้าจุดมุ่งหมายต้องการไล่รัฐบาล แต่เนื้อหาบนเวทีเป็นอีกเรื่องราวหนึ่งแล้ว จึงเป็นสิ่งที่น่าห่วงใยอีกอย่าง การรักษาแนวร่วม มีความจำเป็นในการต่อสู้ และการชุมนุมแต่ละเหตุการณ์ในอดีต ก็มีแนวร่วมที่แตกต่างกันไป เมื่อประชาชนต้องการมาร่วมชุมนุมจำนวนมากแล้ว ย่อมต้องการจะรู้เช่นกันว่า ปลายทางคืออะไร และเส้นทางหลังจากนั้นคืออะไร

"ผมไม่ได้เปลี่ยนไป แต่คนอื่นเปลี่ยน แล้วมาชี้หน้าผมว่าเปลี่ยนไป ทั้งที่ตลอดชีวิตก็เป็นแบบนี้ จุดยืนผมยังเหมือนเดิม เมื่อคนอื่นเปลี่ยนแล้ว ผมมีความจำเป็นอะไรต้องไปเห็นด้วยกับเขา เพราะมันเป็นเสรีภาพของผม และผมเชื่อของผมแบบนี้ จึงดำรงความเชื่อเช่นนี้" ประธาน นปช. ระบุ

ส่วนการออกมาสำแดงพลังของประชาชนนั้น ต้องมีเป้าหมาย และไม่ควรมีใครมาตายใน พ.ศ.นี้อีก เพราะไม่รู้ว่าขบวนการสร้างสถานการณ์ จะมาสำแดงอะไรกับผู้ชุมนุม คงเป็นด้วยความเป็นห่วงเช่นนี้ คณะญาติวีรชน 2535 จึงยื่นเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เพื่อยุติปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธี แล้วนักการเมืองจะมีความสำนึกหรือไม่เท่านั้น

"ถ้าสองพรรคถอย จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปโดยปริยาย ก็ไม่มีความสูญเสียขึ้น เมื่อญาติวีรชน 2535 หาช่องทางลงอย่างดีที่สุด เป็นช่องทางลงที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อใดๆ ผมจึงเห็นว่าน่าเป็นช่องทางหนึ่ง เพียงแต่พรรคการเมืองจะมีความกล้าหรือไม่ เพราะอำนาจคือยาเสพติดร้ายแรง เมื่อเสพติดแล้วจึงเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งที่สัจธรรมไม่มีใครรักษาอำนาจไว้ได้ แม้เพียงรายเดียว" นายจตุพร กล่าวและว่า พรรคการเมืองควรร่วมกันเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัย เพื่อถอดสลักรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นทางออกหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาชาติที่วิกฤต

นายจตุพร กล่าวย้ำว่า การชุมนุมวันที่ 14 ต.ค.นี้ ตนจึงไม่ต้องการให้เป็นหลักคิดแบบ 14 ตุลา แต่มีเรื่องราวเหมือน 6 ตุลา ซึ่งเป็นความน่ากังวลมากที่สุด เพราะจะกลายเป็นหนังคนละม้วน จึงได้แต่หวังว่า จะลงท้ายด้วยสันติวิธี

logoline