svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เจาะข้อมูลม็อบ 19 กันยาฯ อ่านแนวโน้ม 14 ตุลาฯ

08 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดข้อมูลมวลชน 3 กลุ่มหลักร่วมม็อบ 19 กันยาฯ ประเมินแนวโน้มชุมนุมใหญ่ 14 ตุลาฯ คาดจำนวนมวลชนไม่ลดลงมากแม้พรรคเพื่อไทยดีดตัวหนี เหตุกลุ่มเสื้อส้ม รวมทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่เคลื่อนไหวคกคัก

แนวโน้มการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจะมากหรือน้อย เพราะฝั่งแกนนำผู้ชุมนุมมั่นใจว่ามวลชนจะมาร่วมแบบ "มืดฟ้ามัวดิน" แต่ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนม็อบ ก็คาดการณ์ว่ามวลชนน่าจะหดหาย มาน้อยกว่า 19 กันยาฯเสียด้วยซ้ำ
ล่าสุดยังไม่มีผลประเมินจากฝ่ายความมั่นคงที่รับผิดชอบโดยตรงออกมา แต่เราสามารถประเมินแนวโน้มการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาฯ ได้บางส่วน โดยดูจากข้อมูลการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 กันยายนนั่นเอง ซึ่งมีรายงานสรุปของฝ่ายความมั่นคงและข่าวสารจากสื่อมวลชนทั่วไป โดยในวันนั้นผู้ชุมนุมจำแนกได้กว้างๆ เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 20 จังหวัด เสื้อส้มจากเกือบ 40 จังหวัด เครือข่ายคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. และกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากจังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ รวมทั้งหมดราวๆ 10,000 คน
2. กลุ่มเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ จำนวนประมาณ 6,000-7,000 คน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนท.ที่มี นายเพนกวิน "พริษฐ์ ชิวารักษ์" เป็นแกนนำ
และ 3. กลุ่มมวลชนที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล จำนวน 3,000-5,0000 คน

สำหรับผู้ปราศรัยบนเวทีทั้งหมดมี 6 กลุ่ม จำนวน 33 คน เช่น
- กลุ่มนิสิต นักศึกษา ในเครือข่าย สนท. ปราศรัยตอกย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อ (ยุบสภา แก้รัฐธรรมนูญ หยุดคุกคามประชาชน) และ 2 จุดยืน (ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ) กับ 1 ความฝัน (การปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง)
- กลุ่มที่ตั้งเพจ "นักเรียนเลว" ปราศรัยโจมตีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- กลุ่มคนเสื้อแดง และแกนนำสำคัญของม็อบปลดแอก เช่น นายอานนท์ นำภา เน้นโจมตีรัฐบาล เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
- กลุ่มแรงงาน เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาแรงงาน และคนตกงานช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
- กลุ่มเอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวต่างๆ เน้นปราศรัยเรื่องความเท่าเทียม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน
- กลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนประเด็นต่างๆ เน้นปราศรัยโจมตีรัฐบาล
การชุมนุมครั้งนั้นยังมีนักการเมือง ทั้ง ส.ส.และอดีตผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วม 7 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทรักธรรม พรรคไทยศิวิไลย์ และอดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ

ส่วนการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม ที่หลายฝ่ายประเมินว่ามวลชนจะลดน้อยถอยลงจากวันที่ 19 กันยายนนั้น เป็นเพราะพรรคเพื่อไทยอาจไม่สนับสนุนการชุมนุมที่มีเนื้อหากระทบกับสถาบันเบื้องสูง แต่ก็อาจมีมวลชนกลุ่มอื่นๆ มาทดแทน เช่น กลุ่มเสื้อส้มที่สนับสนุนคณะก้าวหน้า กลุ่มเสื้อแดงที่ก้าวข้ามพรรคเพื่อไทย และกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่น่าจะมีการระดมกันมากกว่าเดิม แต่การนัดชุมนุมในวันธรรมดาก็อาจเป็นอุปสรรคให้นักเรียน นักศึกษามาร่วมได้น้อยในเวลากลางวัน
จึงต้องรอดูว่าเมื่อผ่านวันสุกดิบจนถึงวันจริง จะมีมวลชนร่วมชุมนุมเท่าใดกันแน่!

logoline