svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

‘ดร.นิว’ร้อง’สภาองคมนตรี’ค้าน 10 ข้อม็อบ

05 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ดร.นิว ศุภณัฐ ยังคงหยัดยืนแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกลุ่มม็อบปลดแอก ที่มีความพยายามในการยื่นข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ถึงองคมนตรี ผ่านทางท่าน ผบช.น. เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา ล่าสุดได้โพสต์ข้อความ ถึงสภาองคมนตรี เกี่ยวกับจุดยืนตรงนี้และเสนอแนวทางเพิ่มเติม

ยังคงออกมาเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนต่อเนื่อง สำหรับ ดร.นิว ศุภณัฐ ที่ล่าสุดนั้นได้โพสต์เนื้อหาลงในเฟซบุ๊ก 'Suphanat Aphinyan

(ดร.ศุภณัฐ)' ประเด็น ขอคัดค้านข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ของม็อบปลดแอก เนื่องจากผิดต่อหลักวิชาและไม่ได้แสดงถึงเจตนาอันดีต่อสถาบันฯ อีกทั้งยังมีข้อเสนอที่ใส่ร้ายป้ายสีต่อสถาบันฯอีกด้วย ซึ่งมีเนื้อหาว่า 

เรียน สภาองคมนตรี และประชาชนทั่วไป

จากการที่ม็อบปลดแอกมีความพยายามในการยื่นข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ถึงองคมนตรี ผ่านทางท่าน ผบช.น. เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา

ข้าพเจ้าขอคัดค้านข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ของม็อบปลดแอก เนื่องจากผิดต่อหลักวิชาและไม่ได้แสดงถึงเจตนาอันดีต่อสถาบันฯ อีกทั้งยังมีข้อเสนอที่ใส่ร้ายป้ายสีต่อสถาบันฯอีกด้วย เริ่มตั้งแต่ข้อแรกก็ผิดต่อหลักวิชาที่จะยกเลิกความคุ้มกันของพระมหากษัตริย์ เพราะความคุ้มกันของพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 6 เป็นหลักพื้นฐานสากลซึ่งปรากฏอยู่ในนานาอารยประเทศในระบอบการปกครองเดียวกัน และไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะยกเลิกความคุ้มกันของพระมหากษัตริย์เช่นนั้น

หากแต่ข้าพเจ้าเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูสถาบันฯเพื่อประชาธิปไตย เนื่องจากสถาบันฯอยู่เคียงข้างประชาชนชาวไทย และวางรากฐานของระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น แต่บทบาทในการสร้างระบอบประชาธิปไตยของสถาบันฯกลับถูกบ่อนทำลายและบิดเบือนโดยคณะราษฎร ซึ่งเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาความเป็นประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ เพราะคณะราษฎรถืออำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อย และไม่ได้ทำอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชนตามแนวทางของพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่การเลิกทาสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนกระทั้งการสละพระราชอำนาจส่วนใหญ่ที่มีมาแต่เดิมของพระมหากษัตริย์ให้เป็นของปวงชนโดยทั่วกันของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟื้นฟูสถาบันฯให้กลับมามีบทบาทสำคัญในการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้กับประชาชน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสถาบันฯกับประชาชนชาวไทย ซึ่งเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของชาติไทยที่มีมาแต่โบราณ

ข้าพเจ้าได้แนบ "ข้อเสนอฟื้นฟูสถาบันเพื่อประชาธิปไตย 10 ข้อ" ซึ่งข้าพเจ้าได้โพสต์ลงใน Facebook: Suphanat Aphinyan เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2563 โดยความส่วนหนึ่ง ข้าพเจ้าได้เสนอให้มีการยกระดับสภาองคมนตรีให้เป็น "สภาที่ปรึกษาแห่งชาติ" นำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนและสนับสนุนการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็ง เพื่อให้ราชการของพระมหากษัตริย์ในส่วนนี้มีการประสานงานและความใกล้ชิดประชาชนมากยิ่งขึ้น อันจะสามารถช่วยให้เข้าถึงปัญหาที่แท้จริงของประชาชน ตลอดจนสามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับหลัก "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  และอยู่บนพื้นฐานของหลัก "ราชประชาสมาสัย" ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนชาวไทย 

ด้วยความเคารพอย่างสูง

นาย ศุภณัฐ อภิญญาณ

5 ตุลาคม พ.ศ. 2563

‘ดร.นิว’ร้อง’สภาองคมนตรี’ค้าน 10 ข้อม็อบ

ข้อเสนอฟื้นฟูสถาบันเพื่อประชาธิปไตย 10 ข้อ

การสละพระราชอำนาจส่วนใหญ่ที่มีมาแต่เดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 7 คือ การทำอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชน ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกันเรียบร้อยแล้ว

แต่คณะราษฎรกลับยึดอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยมาเป็นของคณะราษฎรเสียเอง ทำให้อำนาจอธิปไตยตกอยู่ในมือของคนส่วนน้อยซึ่งก็คือคณะราษฎร ที่ใช้คำว่า "ราษฎร" เป็นยี่ห้อจอมปลอมหลอกลวงราษฎรทั้งประเทศ เพราะหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเป็นแค่ปาหี่ขายฝัน ไม่ได้มีสาระของการทำอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชนแต่อย่างใด รัฐธรรมนูญของคณะราษฎรทุกฉบับก็ล้วนแต่หลอกลวงประชาชน เพราะมีแต่ "อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน" ไม่ใช่ "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน"

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา อำนาจอธิปไตยปวงชนเป็นจริงแค่ในกระดาษ และไม่เคยมาถึงมือของประชาชนอย่างแท้จริง ปัจจุบันปัญหาทั้งหมดอยู่ในรัฐสภาที่ผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน แต่ผู้แทนราษฎรกลับเป็นตัวแทนของนายทุนผู้มีอำนาจเหนือพรรคการเมือง สุดท้ายอำนาจอธิปไตยปวงชนจึงตกอยู่ในมือของคนมีเงินเพียงแค่ไม่กี่คน

ระบอบเผด็จการของคนส่วนน้อยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ฉกฉวยอำนาจอธิปไตยของประชาชน เป็นต้นเหตุของปัญหาความเป็นประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ และความเข้าใจผิดๆที่ทำให้สถาบันฯ ซึ่งอยู่ในฐานะประมุขแห่งรัฐพลอยเสื่อมเสียพระเกียรติไปด้วย แต่ความเป็นจริง สถาบันฯ ถูกทำให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับระบอบเผด็จการดังกล่าว ในทางตรงกันข้ามสถาบันฯ เป็นผู้เลิกทาส วางรากฐานของชาติและประชาธิปไตยให้กับประชาชนมาตั้งแต่แรก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟื้นฟูสถาบันฯ และประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชน นำไปสู่การทำอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชนโดยสมบูรณ์

‘ดร.นิว’ร้อง’สภาองคมนตรี’ค้าน 10 ข้อม็อบ

1.ปรับลดบทลงโทษของ ม.112 ให้กลับไปเป็นดังเดิม หรือสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล และจัดให้มีหน่วยงานเฉพาะในการพิจารณาบังคับใช้กฎหมาย เพื่อความเป็นธรรมและไม่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท

2.ยกเลิกการโหวตนายกรัฐมนตรี แล้วให้อำนาจในการแต่งตั้งนายกฯ เป็นของพระมหากษัตริย์โดยตรง บนพื้นฐานของการฟังเสียงประชาชน เช่นเดียวกับประเพณีการปกครองของประเทศอื่นๆในระบอบการปกครองเดียวกัน ที่พระมหากษัตริย์มักจะทรงแต่งตั้งผู้ที่ประชาชนให้การสนับสนุนสูงสุดเป็นนายกฯ เมื่อผลการเลือกตั้งเป็นเอกฉันท์ และมีกลไกพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งในการคัดเลือกและเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมที่สุดให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง เมื่อผลการเลือกตั้งไม่เป็นเอกฉันท์

3.ปฏิรูปสภาองคมนตรีเป็น "สภาที่ปรึกษาแห่งชาติ" ทำงานร่วมกับตัวแทนของประชาชนผู้ทรงคุณวุฒิ ขยายหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแนะนำ และเป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างทุกภาคส่วนในประเทศตั้งแต่พระมหากษัตริย์ตลอดจนประชาชนทั่วไป เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษา และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

4.กำหนดให้นายกฯ หรือคณะรัฐมนตรีต้องเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานการทำงานให้พระมหากษัตริย์ทรงทราบเป็นประจำทุกเดือน หรือรายงานผ่านการประชุมร่วมกับสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ

5.ให้สภาที่ปรึกษาแห่งชาติมีส่วนในการรับทราบ และตรวจสอบความโปร่งใสในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำระดับสูง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบราชการ ปราศจากการแทรกแซงโดยฝ่ายการเมือง และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน

6.ให้รัฐสภาจัดทำงบประมาณแผ่นดินซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ โดยตรงอย่างเหมาะสม ในนามของ "งบประมุขแห่งรัฐ" แยกออกจากงบอื่นๆอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิด อันจะส่งผลให้เกิดความระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท

7.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ "งบประมุขแห่งรัฐ" จะต้องทำรายงานชี้แจง การดำเนินงานและการนำงบประมาณแผ่นดินไปใช้ต่อสาธารณชน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน

8.สนับสนุนการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่มีความเจริญและมีความเป็นอารยะ รู้จักเคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่น รวมถึงส่งเสริมสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของสถาบันฯ ให้มีความทัดเทียมกับต่างประเทศ เช่น Freedom of Information (FOI) Act ของประเทศอังกฤษและ Media Code ของประเทศเนเธอร์แลนด์

9.กระจายอำนาจอธิปไตยและขยายอำนาจท้องถิ่นไปสู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายที่มีความสอดคล้องกับท้องถิ่น ควบคู่ไปกับนโยบายจากส่วนกลาง แล้วสถาปนา "สภาที่ปรึกษาจังหวัด" ภายใต้การสนับสนุนของสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมกันพัฒนาจังหวัด และต่อต้านการคอรัปชั่นในระดับท้องถิ่น

10.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนจะต้องรายงานผลการทำงานของตนเองต่อสภาที่ปรึกษาแห่งชาติและเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการปรึกษาหารือกับสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ เพื่อสร้างความเข้าใจ เข้าถึงและแก้ไขปัญหาของประชาชนร่วมกันอย่างเป็นระบ

"เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ภายใต้ร่มพระบารมี"

ดร.ศุภณัฐ

27 กันยายน พ.ศ. 2563

#ประชาธิปไตยTheseries by ดร.ศุภณัฐ


‘ดร.นิว’ร้อง’สภาองคมนตรี’ค้าน 10 ข้อม็อบ



‘ดร.นิว’ร้อง’สภาองคมนตรี’ค้าน 10 ข้อม็อบ



ขอบคุณข้อมูล : Suphanat Aphinyan (ดร.ศุภณัฐ)'

logoline