svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พรเพชร"เชื่อส.ว.ไม่มีแผนตีตก6ร่างแก้รัฐธรรมนูญ

05 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พรเพชร วิชิตชลชัย" เชื่อวุฒิสภาไม่มีแผนตีตก 6 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชี้ต้องรอฟังผลการพิจารณาของกรรมาธิการ รับยังไม่ได้ยื่นชื่อ ส.ว. ด้านมั่นคงขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะอยู่ระหว่างตรวจสอบ

(5 ตุลาคม 2563) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า กรณีที่นักวิชาการออกมาท้วงติงว่าหาก ส.ว.ไม่เปลี่ยนจุดยืนในการลงมติรับหลักการเพื่อเปิดทางแก้รัฐธรรมนูญ อาจจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าทำลายประชาธิปไตยนั้น ส่วนตัวปฏิเสธ ว่า ส.ว.ตั้งจุดยืนในการลงมติในชั้นรับหลักการญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ และไม่เห็นว่ามีใครมีจุดยืนใด ซึ่งมองว่าเป็นเพียงข้อกังวลว่าญัตติจะไม่ผ่านวาระรับหลักการ อีกทั้งเป็นข้อกฎหมายจึงไม่ได้เกี่ยวกับ ส.ว.

ทั้งนี้ ส.ว.ต้องระมัดระวังในการลงมติ และส่วนตัวเห็นว่าจุดยืนในทางความเป็นจริง ที่ต้องยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง คือ ส.ว.ต้องมีอิสระ เพราะ ส.ว.ไม่ใช่นักการเมือง ต้องมีดุลยพินิจ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และนี่คือจุดยืน ส.ว. ที่ต้องพิจารณารัฐธรรมนูญให้ดี เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และขอย้ำว่าต้องรับฟังผลการพิจารณาของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาญัตติของรัฐสภา ก่อนพิจารณาลงมติ

ส่วนข้อกังวลของ ส.ว.บางส่วน ว่าจะต้องทำประชามติถามความเห็นประชาชนก่อนการแก้รัฐธรรมนูญว่าเห็นด้วยหรือไม่นั้น ซึ่งยอมรับว่าลำบากใจในการตอบ เพราะเรื่องนี้ยังเป็นข้อถกเถียงของนักกฎหมาย จึงพยายามไปศึกษาเช่นกันว่าเป็นอย่างไรขณะเดียวกัน มีการตั้งอนุกมธ.ศึกษารายงานว่า ซึ่งต้องฟังรายงาน หลังจากนี้ต้องดูว่า ส.ว.จะพิจารณาอย่างไร เพราะฝ่ายหนึ่งบอกว่าให้ทำประชามติตอนนี้ ก่อนรับหลักการหรือหลังรับหลักการ จะต้องให้ได้ข้อยุติในประเด็นนี้ และมีการหารือในข้อกฎหมายหากดำเนินการไม่ถูกต้องอาจขัดต่อกฎหมายได้ แต่ยอมรับว่ายังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ จึงยังไม่สามารถตอบได้ชัดขณะนี้

สำหรับข้อกังวลว่ารัฐสภาอาจตีตกในวาระรับหลักการในช่วงเปิดสมัยประชุมหน้า ทำให้ต้องไปเริ่มกระบวนการใหม่ในสมัยประชุมปี 2564 เดือนพ.ค.นั้น ส่วนตัวยืนยันว่าไม่ใช่ธงที่ตั้งไว้ ทำไมต้องถูกตีตกไป ยืนยันไม่มีความคิดเรื่องนี้ จากที่ฟังเสียงของ ส.ว. เพราะแต่ละคน จะรับฟังผลศึกษาแต่ละร่างฯไป 2 ญัตติแรกก็มีการพิจารณาควบคู่กันไป คือ แก้มาตรา 256 และการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนอีก 4 ญัตติเป็นการแก้เฉพาะเรื่อง ต้องดูความเห็น ส.ว. และขอให้สื่อมวลชนติดตามรายงานการศึกษาของ กมธ.วิสามัญฯ ซึ่งผลการศึกษาไม่ได้ชี้นำการลงมติ แต่จะแจงในข้อกฎหมาย


นายพรเพชร กล่าวด้วยว่า ความเห็นส่วนตัวในญัตติการแก้มาตรา 256 และการตั้ง สสร.ที่ทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงนายกรัฐมนตรีก็สนับสนุนนั้น เมื่อมีกฎหมายมา เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศก็จะรับไว้ รวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญมีปัญหาอะไรสามารถแก้ไขได้หรือไม่ เพราะหากมีปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นเรื่องใหญ่

ประธาน ส.ว. ยอมรับว่า ยังไม่ได้นำรายชื่อ ส.ว.ตำแหน่งด้านความมั่นคง ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และคาดไม่ได้ว่าจะแล้วเสร็จทันเข้าร่วมประชุมรัฐสภาในญัตติการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่หรือเมื่อหาก ส.ว.ตำแหน่งด้านความมั่นคง ปฏิบัติหน้าที่แล้ว จะเข้าร่วมในการพิจารณาญัตติการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น ขอให้ไปถาม ส.ว.เอง

"เพราะไม่เคยกำชับใคร ไม่ประชุมก็อย่าประชุม เพราะถือว่าเป็นสิทธิและหน้าที่ของ ส.ว. แต่ละคน ที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม รวมถึง ส.ว.คนอื่นๆ หลังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ส.ว.ด้านความมั่นคง ไม่ได้เข้าร่วมในญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 23-24 ก.ย." นายพรเพชร กล่าว

logoline