svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดงานวิจัย ปัญหาใหญ่"ความรุนแรงในโรงเรียน"

03 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดงานวิจัยชำแหละปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน 3 รูปแบบ บ่มเพราะความรุนแรงในสังคม 7 ชนิด นักวิชาการเตือน "ครู" ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรม ชี้แค่พูดเชิงลบใส่เด็ก ส่งผลสมองปิดรับการเรียนรู้ สอนแบบไหนก็ไร้ผล แนะสร้างความสัมพันธ์แนวราบแทนแนวดิ่ง แฉยุทธศาสตร์ชาติไม่มีพูดเรื่องความรุนแรงในสถานศึกษาแม้แต่ประโยคเดียว

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องเรียกว่าเป็น "สัปดาห์เปิดโปงความรุนแรงในโรงเรียน" หลังจากปัญหาถูกเปิดขึ้นที่โรงเรียนสารสาสน์วิเทศน์ราชพฤกษ์ ที่มีภาพครูทำร้ายนักเรียนตัวเล็กๆ แค่ชั้นอนุบาล จากนั้นก็มีการเปิดโปงสารพัดรูปแบบความรุนแรงที่ครูกระทำกับนักเรียน ทั้งในเครือสารสาสน์และโรงเรียนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น "หยิก-จิก-ตบ-ตี-ผลัก" หรือแม้แต่ "ครอบถุงดำ"
ปัญหานี้ร้ายแรงมาก และไม่ควรปล่อยให้จบแค่การดำเนินคดีกับครูผู้กระทำ แต่ต้องแก้ปัญหาเชิงระบบด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ มีคณะวิจัยเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน นำโดย อาจารย์นงเยาว์ แข่งเพ็ญแข ออกมาเปิดเผยข้อมูลบางส่วนที่ค้นพบจากงานวิจัยว่า ความรุนแรงในโรงเรียนนั้น มีอย่างน้อยๆ 3 ชนิด 3 รูปแบบ และความรุนแรงในโรงเรียนที่เกิดขึ้นมานานแล้วนี้เองที่เป็นแหล่งบ่มเพาะความรุนแรงให้สังคมไทย ทำให้สังคมไทยมีความรุนแรงอีก 7 ชนิด ซึ่งก็คือความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ที่เราประสบพบเจอกันอยู่ทุกวัน ปรากฏว่าแทบทั้งหมดนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากความรุนแรงในโรงเรียนทั้งสิ้น
เมื่อขยายความถึงความรุนแรงในโรงเรียน จะมีทั้งความรุนแรงระหว่างครูกับนักเรียน และความรุนแรงระหว่างนักเรียนกับนักเรียนด้วยกันเอง

หากเจาะลงไปเฉพาะความรุนแรงระหว่างครูกับนักเรียน พบข้อมูลน่าตกใจว่า จริงๆ แล้ว "คำพูดทางลบของครู" ก็เป็นความรุนแรงทางจิตใจแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นมาตลอด และครูในบ้านเรามักติดที่จะพูดเชิงลบกับนักเรียน ทั้งๆ ที่งานวิจัยพบว่า การพูดในทางลบของครู จะไปกระตุ้นให้ "สมองปิดรับการเรียนรู้ทั้งมวล" ส่งผลให้ไม่ว่าจะใช้วิธีสอนแบบไหนก็ไม่ได้ผล / นี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยเรียนไม่เก่ง หรือมีเด็กที่ต้องออกจากระบบโรงเรียนไปมากมาย
งานวิจัยเสนอว่า ครูจะต้องได้รับการพัฒนาอบรมเสริมพลังบุคลิกภาพทางบวก และการสื่อสารในแนวทางที่มีประสิทธิภาพต่อการเรียนรู้ส่วนการรังแกกันระหว่างนักเรียนนั้น ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Bully หมายถึงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวโดยมีเจตนา เป็นสถานการณ์ที่ฝ่ายผู้รังแกมีอำนาจ มีกำลังเหนือกว่าผู้ถูกรังแก และผู้ถูกรังแก โดยเฉพาะที่เป็นเด็ก จะป้องกันตนเองได้ลำบาก การรังแกระหว่างนักเรียนมีหลายรูป ทั้งการชกต่อย-ทำร้าย การล้อเลียนรูปร่างหน้าตา ล้อเลียนเชื้อชาติ การรีดไถ ข่มขู่ ประณาม หรือแม้กระทั่งเปรียบเทียบ เหล่านี้ล้วนเป็นการรังแกทัง้สิ้น

เปิดงานวิจัย ปัญหาใหญ่"ความรุนแรงในโรงเรียน"

งานวิจัยยังพบว่า การรังแกกันระหว่างเด็กด้วยกัน ไม่สามารถใช้สันติวิธีมาบริหารจัดการได้ เพราะผู้รังแกมีเจตนาทำร้ายผู้ที่อ่อนแอกว่าและไม่มีทางสู้ การแก้ไขจึงต้องใช้การปรับพฤติกรรมตามหลักจิตวิทยา เพื่อให้เด็กเรียนรู้วิธีการควบคุมอารมรณ์ให้ได้ พ้อมๆ กับการสร้างค่านิยมให้ใช้สันติวิธีจัดการความขัดแย้ง
งานวิจัยสรุปตอนหนึ่งว่า เป็นเรื่องดีที่สังคมหันสนใจปัญหานี้ สื่อทุกแขนง ทีวีทุกช่องช่วยกันออกข่าว ฉะนั้นจึงถึงเวลาที่จะ "ปฏิวัติสังคมวิทยาโรงเรียน" เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์แนวราบระหว่างครูกับนักเรียน ขจัดความสัมพันธ์แนวดิ่งที่ใช้อำนาจและความรุนแรงแบบเดิมๆ ที่เคยชินกัน
ที่สำคัญ อาจารย์นงเยาว์ บอกทิ้งท้ายว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่มาก แต่กลับไม่มีระบุในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งด้านความมั่นคง การปฏิรูปการศึกษา หรือการพัฒนาครอบครัว จึงอยากเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคม รวมทั้งรัฐบาล หันมาสนใจปัญหามากกว่าที่เป็นอยู่

logoline