svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"หญิงหน่อย"หนุนคืนอำนาจคนกรุงร่วมกำหนดอนาคตตัวเอง

29 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กมธ.ติดตามงบฯ จัดเสวนาตัดงบประมาณรวมพลังสร้าง กทม. ขณะที่ "คุณหญิงสุดารัตน์" ซัดผู้มีอำนาจควรฟังเสียงประชาชนเสนอ ใช้เทคโนโลยียุคใหม่สร้างโอกาสให้คนกรุง ด้าน "โภคิน" ลั่นระบบที่เฮงซวยเป็นตัวทำให้ปชช.ท้อถอย

(29 กันยายน 2563)คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวในงานเสวนาตัดงบประมาณรวมพลังสร้าง กทม. หัวข้อวิสัยทัศน์รวมพลังสร้างกรุงเทพฯ ที่จัดโดย คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตาม การบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ว่า ส่วนตัวเห็นปัญหาใหญ่คือส่วนของโครงสร้างที่ควรแก้ไขเพื่อกระจายอำนาจการตัดสินใจการใช้งบประมาณเพื่อให้คนกรุงเทพฯได้ใช้โอกาสมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของตนเอง

ทั้งนี้ ผลของการที่ไม่มีตัวแทนของประชาชน คือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และ สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) เข้าไปทำงาน ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้คนกรุงเทพเสียโอกาส เพราะไม่มีคนเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับภาครัฐ ไม่ว่า จะเป็นปัญหาน้ำท่วม รถติด โดยเฉพาะการใช้งบเป็นแสนล้านแต่กลับไร้ประสิทธิภาพ ปัญหาของ กทม.ปัจจุบันจะยึดราชการเป็นศูนย์กลาง จึงย้ำว่าจะต้องให้กรุงเทพเป็นตัวอย่างของกระจายอำนาจที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม โดยเสนอให้จัดงบประมาณที่จะต้องฟังเสียงของประชาชนด้วยการยกเลิกผู้มีอำนาจที่สั่งประชาชน อีกทั้งต้องเตรียมพลังของประชาชน โดยให้ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยตนเอง ไม่ใช่ให้เจ้าหน้าที่เขตคิด และแก้ปัญหาให้เอง และจากสภาชุมนุมให้ประชาชนมีอำนาจ โดยการกระจายอำนาจให้ประชาชนคิดแทน

นอกจากนี้ จะต้องจัดสรรงบประมาณโดยเน้นการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอประชาชน ซึ่งที่ผ่านมางบประมาณที่จัดซื้อจัดหาให้ประชาชนเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ต้องการ ส่อไปในทางทุจริต และเสนอให้สภาชุมชนมีอำนาจการตรวจสอบการใช้งบประมาณเพื่อเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยระดับชุมชน

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเสนอให้จัดสรรงบพัฒนาชุมชนอย่างโครงการ SML อย่างที่พรรคไทยรักไทยเคยทำมา และเสนอแนะลดขั้นตอนให้เร็วขึ้น แก้ระเบียบให้สะดวกขึ้นเพื่อลดการทุจริต ให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ และเป็นการป้องกันการทุจริตด้วย พร้อมทั้งเสนอแนะการใช้เทคโนโลยียุคใหม่ เพื่อสร้างโอกาสให้คนกรุงเทพ โดยเน้นย้ำให้รัฐบาลส่งเสริมให้คนกรุงเทพมีโอกาสใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งจะถือว่ารายส่วนนี้จะเป็นฐานภาษีใหม่ให้รัฐบาล

อย่างไรก็ดี จุดเริ่มต้นของการบริหาร กทม. คือ การคืนอำนาจให้กับชาว กทม.ด้วยการกระจายอำนาจ ผ่านการปรับโครงสร้าง และกระจายงบประมาณโดยเชื่อว่าหากประชาชนมีส่วนร่วมจะสามารถแก้ไขปัญหาเล็กอย่างเช่นน้ำท่วมหรือปัญหาทางเท้า รวมถึงปัญหาใหญ่อย่างปัญหาฝุ่นพิษของกรุงเทพฯ

ขณะที่นายดวงฤทธิ์ บุนนาคสถาปนิกและนักออกแบบ และแกนนำกลุ่มแคร์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับผังเมือง จะทำให้แก้ไขปัญหาใน กทม. ให้ได้ทั้งรถติดและมลภาวะ โดยชี้ว่าผังเมืองที่มีจะเป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมความหนาแน่นของประชากร สืบเนื่องให้เป็นการควบคุมขนาดของท่อระบายน้ำ เสาไฟ และถนน ซึ่งมองเห็นว่าผังเมืองของกรุงเทพขณะนี้ยังคงซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ เสนอแนะให้ออกแบบกรุงเทพเป็นเมืองสร้างสรรค์ให้มีธุรกิจขนาดเล็ก เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจเมืองเกิดความเข้มแข็งไปด้วย และยังเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณ ในด้านสวัสดิการของเมือง แต่ทั้งนี้จะต้องทำให้คนเมืองมีฐานะก่อน

ด้าน นายโภคิน พลกุล ในฐานะนายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน กล่าวว่า ปัญหาของประเทศอยู่ที่ระบบราชการที่ใหญ่โต ซึ่งเป็นเช่นนี้ในทุกท้องถิ่นรวมถึง กทม.ด้วย ระบบจัดการที่ดี คือต้องให้ ปชช.ทำมาหากินได้ดี แต่ระบบที่เฮงซวยทำให้ประชาชนท้อถอย สิ่งที่ต้องทำคือต้องตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปให้มากที่สุด ไม่ว่างบประมาณของประเทศและ กทม.โดยท้วงติงว่า ระบบราชการมีแต่คนจะใช้เงิน โดยไม่สนใจปัญหาที่เกิดขึ้น

"หญิงหน่อย"หนุนคืนอำนาจคนกรุงร่วมกำหนดอนาคตตัวเอง

logoline