svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

"เศษอาหารเหลือทิ้ง"…วันนี้ เราจะไม่ทิ้ง

29 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หากเราพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ทุกคนจะได้ยินตามมาก็คือการรณรงค์ลดการใช้พลาสติก รวมถึงการคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลหรือจัดการด้วยวิธีการอื่น แต่ปัญหาอีกอย่างที่ทุกคนต้องเจอก็คือ ในหนึ่งวันเราสามารถหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกได้ก็จริง แต่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงขยะที่มาจากเศษอาหารต่างๆได้เลย ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่รับประทานเหลือ อาหารหมดอายุ หรือเศษวัตถุดิบที่เหลือมาจากการประกอบอาหาร ฯลฯ





มีรายงานว่า ปัญหาขยะในประเทศไทย มีมากถึงประมาณ 28 ล้านตันต่อปี ซึ่งยังมีขยะตกค้างที่ไม่สามารถกำจัดได้ประมาณ 5.8 ล้านตัน คิดเป็นขยะเศษอาหารประมาณ 4 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 60%


โดยปกติแล้วการกำจัดขยะอาหารสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการลดการกินทิ้งกินขว้าง นำไปบริจาคให้ผู้ยากไร้ เอาไปทำเป็นอาหารสัตว์ เอาไปหมักเพื่อทำเป็นก๊าซหุงต้ม แปรรูปกลับคืนไปประกอบหน้าดิน รวมถึงวิธีสุดท้ายอย่างการนำขยะอาหารไปฝังกลบ ซึ่งเป็นวิธีการกำจัดขยะอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด เพราะจะเป็นการเพิ่มภาวะเรือนกระจก จากการย่อยสลายที่จะคายก๊าซมีเทนออกมาจากขยะอินทรีย์ นอกจากนี้ขยะอาหารยังมีปัญหาเรื่องของกลิ่นรบกวน และเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคมากมาย และหากจัดการล้มเหลวก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



จากปัญหา "ขยะอาหาร" ที่เรื้อรังมานานนี้เอง ทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นความสำคัญ โดยให้สถาบันนวัตกรรม ปตท. พัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยจัดการปัญหาขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง เปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ครบวงจร ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เปลี่ยนของเสียให้เป็นวัสดุที่มีคุณค่ากลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม



"เศษอาหารเหลือทิ้ง"…วันนี้ เราจะไม่ทิ้ง





สถาบันนวัตกรรม ปตท. โดยทีมวิจัยจากฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ได้เริ่มทำการคัดเลือกและพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการผลิตเอนไซม์เพื่อช่วยในการย่อยสลายขยะเศษอาหาร โดยเชื้อจุลินทรีย์จะทำงานร่วมกับเครื่องย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติที่ได้รับการพัฒนาแล้วเสร็จเมื่อปลายปี พ.ศ.2562 ให้สามารถควบคุมสภาวะให้เชื้อจุลินทรีย์ทำงานย่อยสลายขยะเศษอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดไร้กลิ่นเหม็นรบกวน



เครื่องย่อยสลายอัตโนมัติ เปลี่ยนอาหารเหลือทิ้งให้เป็นปุ๋ยได้ใน 12 ชม.สำหรับตัวเครื่องจะประกอบด้วยส่วนการทำงานหลัก 2 ส่วนคือ


(1) ส่วนย่อยสลายขยะเศษอาหาร และ (2) ส่วนดูดซับกลิ่น โดยทั้งสองส่วนดังกล่าวได้ผ่านการออกแบบและพัฒนาเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณขยะเศษอาหารได้สูงสุดถึง 5 กิโลกรัมต่อวัน ด้วยตัวเครื่องที่มีขนาดด้านกว้าง ยาว และสูง ไม่เกิน 1 เมตร ทำให้ประหยัดพื้นที่ในการติดตั้ง และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน รวมทั้งระบบควบคุมต่าง ๆ ได้ถูกติดตั้งเพื่อควบคุมสภาวะการทำงานโดยอัตโนมัติไว้เรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้งานเพียงแค่เปิดเครื่องเริ่มการใช้งานและใส่ขยะเศษอาหารพร้อมเชื้อจุลินทรีย์ของ ปตท.ได้ทันที หลังจากนั้นผ่านไป 12 ชั่วโมงก็จะได้วัสดุปรับปรุงดิน (Bio-Soil) ที่เกิดจากการย่อยสลายขยะเศษอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการบำรุงต้นไม้ให้เจริญงอกงามและบำรุงดินที่เสื่อมสภาพให้มีคุณภาพได้เป็นอย่างดี

"เศษอาหารเหลือทิ้ง"…วันนี้ เราจะไม่ทิ้ง





"เศษอาหารเหลือทิ้ง"…วันนี้ เราจะไม่ทิ้ง





"เศษอาหารเหลือทิ้ง"…วันนี้ เราจะไม่ทิ้ง





ความสำเร็จจากงานวิจัย และการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์



สำหรับนวัตกรรมเครื่องต้นแบบย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติ ได้ผ่านการทดสอบการใช้งานจริง ณ ห้องอาหาร สถาบันนวัตกรรม ปตท. เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งวัสดุปรับปรุงดินที่ได้จากการย่อยสลายเศษอาหารได้ผ่านการตรวจวิเคราะห์โดยห้องปฏิบัติการแล้วพบว่าว่ามีธาตุอาหาร NPK และองค์ประกอบอื่นๆ ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของต้นไม้ และถูกนำไปใช้ในการบำรุงต้นไม้ในพื้นที่ของสถาบันนวัตกรรมเรียบร้อยแล้ว


และวันที่ 9 ก.ค. 63 ที่ผ่านมา นวัตกรรมเครื่องต้นแบบย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติได้ถูกย้ายมาติดตั้งทดสอบการใช้งานจริงที่อาคารบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) เป็นระยะเวลาร่วมกว่า 2 เดือน ซึ่งพบว่า เครื่องต้นแบบดังกล่าวสามารถย่อยสลายขยะเศษอาหารที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี รองรับปริมาณขยะเศษอาหารได้ประมาณ 5 กิโลกรัมต่อวัน โดยไม่เกิดกลิ่นเหม็นรบกวนรวมทั้งเชื้อรา อีกทั้งยังเปลี่ยนขยะเศษอาหารให้เป็นวัสดุปรับปรุงดิน (Bio-soil) ได้ภายในระยะเวลา 12 ชั่วโมง



จากการทดสอบการใช้งานที่ EnCo สามารถลดขยะเศษอาหารที่จำเป็นต้องกำจัดได้ทั้งสิ้น 139.6 กิโลกรัม และสามารถเปลี่ยนขยะเศษอาหารให้เป็นวัสดุปรับปรุงดิน (Bio-soil) กลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด 29.06 กิโลกรัม ซึ่ง Bio-soil ที่ได้นี้ได้ถูกนำไปใช้ในการบำรุงต้นไม้ที่บริเวณอาคารจอดรถ 2 ของ บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด แล้วอีกด้วย







"เศษอาหารเหลือทิ้ง"…วันนี้ เราจะไม่ทิ้ง





จากความสำเร็จในงานวิจัยและการนำมาทดสอบการใช้งานจริงดังกล่าว สถาบันนวัตกรรม ปตท. จึงได้ร่วมมือกับบริษัท อินทรีย์ อีโคไซเคิล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านการจัดการของเสียอย่างครบวงจร ร่วมกันผลักดันนวัตกรรมเครื่องย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัตินี้ ขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ในการใช้งานวงกว้างต่อไป


เครื่องต้นแบบย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติ นับเป็นหนึ่งในวิธีการลดขยะและเปลี่ยนขยะเศษอาหารให้มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นตามแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะปัญหาขยะเศษอาหาร เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข

logoline