svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

แพทย์แนะจำแนก "ความกลัวเด็ก-สำรวจความเครียดครู"

28 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โฆษกกรมสุขภาพจิต แนะนำ จำแนกความกลัวของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง เพื่อสลายความตื่นกลัวต่อตัวครูหรืออาจารย์ที่ทำร้าย รวมถึงสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งจะเป็นการดูแลด้านจิตใจอย่างถูกช่องทาง พร้อมแนะให้โรงเรียนกลับมาพิจารณาระบบตรวจสอบสภาวะจิตใจและสำรวจภาวะความเครียดครูอาจารย์ในโรงเรียน

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต บอกกับ "เนชั่น ทีวี" ว่าเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนก่อนอื่นจะต้องหากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบก่อนว่ามีใครบ้าง นอกจากคู่กรณีทั้ง 2ฝ่ายแล้ว ก็จะมีผู้ที่สนับสนุน หรือคนที่เห็นและคนที่ได้ยินต่อๆกันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนบางคนอาจจะเกิดความกลัวต่อสถานที่เกิดเหตุ


ขณะที่การดูแลด้านจิตใจ แต่ละคนที่ประสบกับเหตุการณ์รุนแรงจะได้รับผลกระทบด้านจิตใจไม่เท่ากันจึงต้องไล่หาตัวผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด

 

 

โฆษกกรมสุขภาพจิต บอกอีกว่า ส่วนเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงต้องมีการสังเกตพฤติกรรมส่วนตัวเขาว่า เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านใดบ้าง เช่นการไม่อยากไปโรงเรียน ความตื่นกลัวต่อสถานที่ที่เกิดเหตุหรือมีพฤติกรรมอื่นที่เป็นลบต่ออาจารย์หรือโรงเรียนโดยการดูแลด้านจิตใจเด็กที่ตกเป็นเหยื่อจะต้องจำแนกความกลัวอย่างละเอียดรวมทั้งจัดระบบการดูแลพื้นฐานที่รัดกุมเพื่อสลายความกลัวของเด็กทั้งเรื่องของสถานที่และบุคคลที่ทำความรุนแรงต่อเด็ก รวมถึงแนะนำให้ผู้ปกครองร่วมกันสร้างเกราะคุ้มกันทางจิตใจให้เด็กรู้สึกถึงความปลอดภัยตั้งแต่ที่บ้านตัวเอง

โฆษกกรมสุขภาพจิต บอกอีกว่า นอกจากการดูแลสภาพจิตใจเด็กแล้วทางโรงเรียนจะต้องมีการพิจารณาระบบคัดกรองหรือระบบตรวจสอบสภาวะจิตใจให้แก่อาจารย์ในโรงเรียนด้วยเช่น การจัดตรวจสุขภาพจิต หรือสภาวะความเครียดของบรรดาคุณครูและอาจารย์เพราะแน่นอนว่า ครูหรืออาจารย์ที่ต้องทำงานอย่างหนักในการให้ความรู้แก่เด็กจะต้องเกิดภาวะความเครียด โดยอาจจะมีการสำรวจสภาวะความเครียดของครูอาจารย์ทุกๆ 6เดือน หรือทุกๆ 1 ปี
logoline