svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

พนง.มหาวิทยาลัยเตรียมฮือ หลังถูกชงส่อโกงเงินเดือน

26 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แฉวงประชุมอนุ ก.พ.อ. กระทรวงอุดมศึกษาฯ มี "ไอ้โม่ง" เสนอชง ครม. เปิดทาง "ฝ่ายบริหาร" มีอำนาจจัดการเงินเดือน "พนักงานมหาวิทยาลัย" เองได้ ไม่ต้องจ่ายครบเต็มจำนวนตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่แพ้คดีราบคาบในศาลปกครองหลายคดี โดนศาลสั่งจ่ายย้อนหลังหลายร้อยล้าน เสี่ยงป่วนทั้งระบบ เตรียมลุกฮือ

ข่าวสารในแวดวงอุดมศึกษาที่ "เนชั่นทีวี" เกาะติดมาตลอด ก็คือเงินเดือนของ "พนักงาานมหาวิทยาลัย" นับแสนคน ที่ถูกมหาวิทยาลัยหักเอาไว้บางส่วน ทำให้ไม่ได้รับเต็มจำนวนตามอัตราที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยปัญหานี้ยืดเยื้อมานานถึง 20 ปี

มติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2543 กำหนดให้มีตำแหน่ง "พนักงานมหาวิทยาลัย" หรือ "พ.ม." ขึ้นมาทดแทนการบรรจุข้าราชการ เพื่อลดจำนวนข้าราชการลง อันจะเป็นการลดภาระด้านงบประมาณ โดยพนักงานมหาวิทยาลัยจะไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล และเงินบำเหน็จบำนาญเหมือนข้าราชการ

มติ ครม.จึงกำหนดอัตราเงินเดือนให้มากกว่าข้าราชการ 1.7 เท่าในสายผู้สอน (อาจารย์) และ 1.5 เท่าในสายสนับสนุน โดยรัฐจ่ายเงินค่าตอบแทนนี้ตรงไปยังมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง "สบช่อง" หักเงินเอาไว้บางส่วน อ้างว่าเพื่อนำไปจัดสวัสดิการให้ แต่หลายมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้จัดจริง และนำเงินไปใช้อย่างอื่น

ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองของกลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัย และชนะมาหลายศาลหลายมหาวิทยาลัยแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยแต่ละแห่งมีพนักงานมหาวิทยาลัยรวมตัวกันฟ้องเป็นกลุ่ม บางแห่งฟ้องเป็นร้อยคน เมื่อมหาวิทยาลัยแพ้คดี ก็ต้องจ่ายเงินเดือนย้อนหลังคืน บางแห่งเป็นหลักร้อยล้านบาท จนเสี่ยงเกิดวิกฤติใหม่ขึ้นในแวดวงอุดมศึกษา

ปรากฏเมื่อเร็วๆ นี้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา ที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ซึ่งประชาคมมหาวิทยาลัยก็คาดหวังว่าจะมีการไฟเขียวออกประกาศเป็น "มาตรฐานกลาง" ให้ทุกมหาวิทยาลัยจ่ายเงินเดือนเต็มจำนวน จะได้ไม่มีปัญหาฟ้องร้องกันวุ่นวาย และต้องจ่ายชดเชยย้อนหลังหลายร้อยล้านบาท

แต่ปรากฏว่าในที่ประชุมกลับมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางรายเสนอให้ส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ ครม.ออกมติใหม่ให้ชัดเจนว่า "เงินเดือนของพนักงานมหาวิทยาลัย" นั้น ทางมหาวิทยาลัยสามารถนำไปบริหารจัดการในกรณีอื่นๆ ได้ นอกเหนือจากการจ่ายเป็นค่าตอบแทน

แม้จนถึงขณะนี้ทางอนุกรรมการฯ ยังไม่มีมติทำตามข้อเสนอดังกล่าว แต่หลังจากข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้กลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศซึ่งมีมากกว่า 1 แสนคน ให้ความสนใจอย่างมาก และเตรียมเคลื่อนไหวใหญ่หากมีการเสนอให้ออกมติ ครม.ใหม่ ให้มหาวิทยาลัยหักเงินเดือนพนักงานได้ หรือนำเงินเดือนพนักงานไปบริหารจัดการอย่างอื่นได้จริง

ทั้งๆ ที่การแก้ไขปัญหานี้สามารถทำได้ง่ายๆ คือแก้กฎหมายหรือระเบียบให้กรมบัญชีกลาง จ่ายเงินเดือนตรงเข้าบัญชีพนักงานมหาวิทยาลัย เหมือนกับข้าราชการ ทุกอย่างก็จะจบ

งานนี้ต้องวัดใจรัฐมนตรีอุดมศึกษาคนใหม่ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ว่าจะถอดสลักความขัดแย้งรอบใหม่นี้อย่างไร

logoline