svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"อนุชา"ปัดรัฐบาลยื้อเวลา1เดือนเพื่อคว่ำร่างแก้รธน.

25 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"อนุชา นาคาศัย" ยืนยันรัฐบาลจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ทางออกตั้งคณะกรรมการตาม รธน. มาตรา 121 กังวลหากพาประชาชนลงถนน วันข้างหน้าบ้านเมืองก็จะเป็นวงจรแบบเดิม เชื่อทุกอย่างมีทางออกหากกลับเข้าสภาฯ

(25 กันยายน 2563) นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้ชุมนุมมีการกล่าวหาไปยังรัฐบาลว่าซื้อเวลาไปอีก 1 เดือน ในการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาศึกษาร่าง ไม่ใช่เช่นนั้นแน่นอน แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 6 ญัตติ ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้จริง โดยเฉพาะวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่ได้ร่วมตั้งแต่กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ ส.ว.บอกว่าไม่ได้ร่วมตั้งแต่ต้น แต่ให้มาร่วมลงมติจึงดูขัด และที่คิดว่าอาจจะมีมติในเรื่องการรับร่างตามที่ฝ่ายวิปได้ตกลงกัน

นายอนุชา กล่าวว่า เมื่อถึงเหตุการณ์นี้จะปล่อยให้สิ่งที่คาดเกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดสิ่งที่ไม่อยากให้เกิด ฉะนั้นการที่จะหาทางออกที่ดีที่สุด คือ ตั้งคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 121 เมื่อมีโอกาสตั้งกมธ.เพื่อพิจารณารับร่าง ที่มารับหรือไม่รับหลักการ ตนมองว่า เป็นเรื่องที่ฟังดูแล้วถูกต้องตามครรลอง และไม่ได้เป็นระยะเวลานานที่จะพิจารณา ส่วนที่บอกว่าจะยื้อหรือคว่ำนั้น เหตุใดทำไมไม่คว่ำตั้งแต่วันนี้ (25ก.ย.) หรือคว่ำวันไหนก็ได้ ทำไมต้องเป็นอีก 1 เดือน แล้วหากอีก 1 เดือน มีการพิจารณาว่าไม่คว่ำ คนที่พูดจะรับผิดชอบคำพูดตัวเองอย่างไร

ทั้งนี้ ส่วนตัวเพิ่งทราบว่าจะมีการตั้งกมธ.อีก1เดือน ตอนลงมติเช่นกัน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว จะทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ควรเกิดได้อย่างไร และมองว่าไม่ใช่เรื่องที่คิดว่าเป็นการยื้อ แต่เป็นระบอบตามรัฐสภา ควรยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเอาชนะกัน แค่เพียงเวลา 1 เดือน มองว่าไม่ควรคิดในเชิงลบอย่างเดียว เพราะการคิดในเชิงลบ โดยคิดว่าตัวเองเป็นตัวตั้ง ก็ไม่เกิดผลดีต่อรัฐสภา หรือไม่เกิดผลดีกับประชาชนที่อยากแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้เกิดขึ้น

"หากทะเลาะกันก่อน ก็จะยิ่งเกิดความลำบากในการพูดคุย เมื่อเรื่องแค่นี้ยังไม่ไว้ใจกัน แล้วเมื่อไหร่จะเข้าสู่ความไว้วางใจในการช่วยกันแก้ปัญหาในบ้านเมือง พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ สิ่งที่บอกว่าไม่จริงใจเป็นการคาดเดาหรือไม่ และหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญคนที่บอกว่ารัฐบาลไม่จริงใจจะรับผิดชอบคำพูดอย่างไร" นายอนุชา กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า ห่วงกระแสนอกสภาฯหรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า ทุกคนห่วงอยู่แล้ว ห่วงประชาชนที่อยากเห็นในสิ่งที่อยากเห็น และเชื่อว่าการเมืองมีหลายมิติ มีคนที่เห็นด้วยและเห็นต่าง นี่คือธรรมดาของระบอบประชาธิปไตย เมื่อมีคนเห็นด้วยและเห็นต่าง สภาฯก็มีไว้วิเคราะห์ เพื่อตัดสินใจความเห็นด้วยและเห็นต่าง ว่าจะไปในทิศทางใด หากสังคมมีแต่ความเห็นเหมือนกัน จะไม่มีปัญหาแน่นอน แต่เมื่อมีความเห็นต่าง ก็ต้องหาข้อยุติว่าหากว่าเห็นร่วมกันว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดปัญหาก็จะไม่เกิดแน่นอน

เมื่อถามว่าก่อนการลงมติมีใบสั่งมาหรือไม่นั้น นายอนุชา กล่าวว่า หากใครจะมองในแง่ลบก็คือลบ ใครจะมองในแง่สร้างสรรค์คือสร้างสรรค์ แต่คำนึงถึงกระแสของประชาชนอยู่แล้ว ตนในฐานะตัวแทนประชาชน ปฏิบัติตัวตามระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่อดีต ตนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ไม่เคยออกมาพูดแม้แต่ครั้งเดียว ว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม เพียงแต่รอว่าวันหนึ่งตนสามารถลงรับสมัครเลือกตั้งได้ เพราะสิ่งเหล่านี้คือระบอบประชาธิปไตย อยากให้คนที่เก่ง และมีความสามารถรอหน่อย เพราะสิ่งเหล่านั้นประชาชนจะเป็นคนตัดสินใจว่าจะให้ใครมาบริหารบ้านเมือง หากพาประชาชนลงถนน วันข้างหน้าบ้านเมืองก็จะเป็นวงจรเช่นนี้

เมื่อถามต่ออีกว่า ก่อนถึงจะมาถึงบทสรุปตรงนี้ได้มีการหารือกันของวิปทั้ง 2 ฝ่ายหรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า เดิมทีมีการหารือกันทั้งวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ถึงการดำเนินการตามปกติเพื่อลงมติรับหรือไม่รับหลักการ เป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.และส.ว. ในฐานะสมาชิกรัฐสภาอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความแตกต่างกับพรรคพลังประชารัฐจะเกิดปัญหากันหรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า เป็นเอกสิทธิ์ของทุกคน มีอิสระในการทำตามระบอบ ไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน การทำงานไม่ได้มีมิติเดียว หากไม่ยอมรับหรือไม่คิดถึงความเห็นต่างว่ามีความสำคัญ สังคมก็จะเกิดสิ่งที่ไม่อยากให้เกิด

นายอนุชา กล่าวอีกว่า ส่วนตัวขอร้องประชาชนที่คิดจะชุมนุม ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่ต้องการคิดให้เป็นด้านลบต่อประชาชน แต่อยากเห็นการเดินหน้าของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนคาดหวัง ทุกคนต้องเดินไปสู่จุดหมายร่วมกัน ใช้ระบบตามสภาฯ เชื่อว่าทุกสิ่งมีทางออก

logoline