svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"จตุพร"แนะส.ส.-ส.ว.ให้ดูชนวนเหตุพฤษภาทมิฬเกิดจากอะไร

25 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"จตุพร พรหมพันธุ์" เตือนส.ส.-สว.อย่างหลงตัวเอง หลังมีมติตั้งกมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ แนะย้อนดูเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเป็นตัวอย่าง เกิดขึ้นจากอะไร เชื่อนัดชุมนุมครั้งหน้าจะออกมามืดฟ้ามัวดิน

(26 กันยายน 2563) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ต่อกรณีที่ประชุมรัฐสภามีมติตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นปรากฎการณ์หลอกประชาชน ตามความเชื่อของผู้มีอำนาจที่ชอบหลงตัวเอง ซึ่งจะทำให้ประชาชนโกรธชิงชัง และจะเอาคืนอย่างเจ็บปวดสาหัสที่สุด

ทั้งนี้ การตั้ง กมธ.ศึกษาการลงมตินั้น ส่วนตัวยังไม่เคยเห็น เพราะคนที่เป็น สส. และ สว. มีวุฒิภาวะในการออกกฎหมาย กลับมาบอกว่า ไม่เข้าใจในร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่างนั้น เป็นเรื่องรับฟังไม่ได้ นอกจากยื้อเวลา แล้วสร้างความชิงชัง ความเกลียดชัง ให้เป็นแรงกระเพื่อมทางการเมือง โดยไม่มีความจำเป็น ซึ่งการยื้อออกไป 1 เดือน เป็นช่วงปิดสมัยประชุม แต่การเปิดสภาสมัยวิสามัญนั้น สมาชิกสองสภารวมกันจำนวน 1 ใน 3 หรือ 250 เสียง สามารถยื่นคำร้องให้เปิดสมัยประชุมวิสามัญได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจำนวนสมาชิกไม่เห็นชอบกับการตั้ง กมธ.แล้ว มี 255 เสียง ดังนั้น จึงเป็นจำนวนเกินกว่าการยื่นเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้แล้ว ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในช่วงที่ร้อน เพราะประชาชนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญ เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาชาติ เมื่อเสนอให้ตั้ง กมธ.เท่ากับเป็นการราดน้ำมันเข้ากองไฟ ดังนั้น จึงเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองที่ไม่เห็นชอบกับการตั้ง กมธ.ศึกษาการลงมติ จำนวน 255 เสียง ควรยื่นเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ

ประธาน นปช. กล่าวต่อว่า การประชุมสองสภามีมติตั้ง กมธ.นั้น คงไม่มีใบสั่งจากผู้มีอำนาจ แต่เป็นเพราะทัศนคติของ ส.ว. ที่ห่วงในอำนาจ จึงออกมติมาถ่วงเวลาเช่นนี้ หากมีใบสั่งแล้ว จะออกมาแบบให้ลงมติผ่านร่างใดร่างหนึ่งหรือทั้งหมด หรือไม่ให้ผ่านเลยสักร่างแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นได้ ดังนั้นอยากให้สมาชิกรัฐสภาชุดนี้ศึกษาบทเรียนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เพราะชนวนสำคัญทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นนั้น คือ การรับปากว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีมาจากเลือกตั้งแต่ถูกเบี้ยว

"ประชาชนจึงมาชุมนุมเต็มท้องสนามหลวงคนไทยเสียอะไรก็เสียได้ ยกเว้นเสียรู้ เขารับไม่ได้ เทียบกับกรณีการอภิปรายเมื่อ 24 ก.ย.นั้น เพื่อรอการลงมติแก้รัฐธรรมนูญ แต่กลับเหมือนการถูกหลอก เพราะไม่มีการลงมติ แต่ถูกยื้อให้ตั้ง กมธ.เพื่อศึกษาการลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ" ประธาน นปช. กล่าว

นายจตุพร กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อในสถานการณ์ข้างหน้า เมื่อนัดชุมนุมกันขึ้นมาอีกครั้ง โดยเน้นเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญ หรือเรียกร้องยุบสภา หรือรัฐบาลลาออกแล้ว คนจะตอบรับอย่างมืดฟ้ามัวดิน และคงไม่มีใครเอาสถานการณ์เช่นนั้นอยู่ได้ ถ้าสมาชิกรัฐสภาไม่รู้ร้อนรู้หนาว และไม่พยายามแก้ปัญหา แต่กลับคิดว่าไม่มีสภาฯ เพราะปิดสมัยประชุมแล้วจะไร้ปัญหา มองว่าคิดผิดหมด เพราะคนปลุกฝูงชนขึ้นมาต่อสู้คือ กลไกของสภาฯเองอีกทั้ง ยังโยงปัญหาไปถึงรัฐบาลอีกด้วยว่า นโยบายแก้รัฐธรรมนูญที่แถลงต่อรัฐสภา แต่รัฐสภากลับไม่เห็นชอบการแก้ ดังนั้น รัฐบาลสมควรจะอยู่ต่อไปหรือไม่

นอกจากนี้ การที่พรรคประชาธิปัตย์จะว่าอย่างไงกับการเปิดสภาสมัยวิสามัญ ส่วนพรรคภูมิใจไทยสนับสนุนการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. เต็มที่ เมื่อท่าทีเป็นแบบนี้ ก็ลงชื่อเปิดประชุมวิสามัญ สถานการณ์แบบนี้ในเดือนเดียว ยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น ดังนั้น การเข้าชื่อเพื่อเปิดสมัยประชุมควรเริ่มต้นได้แล้ว ส่วนพรรคฝ่ายค้านออกมาขอโทษประชาชนนั้น สมควรทำอะไรให้เป็นรูปธรรม โดยยืนยันให้เปิดสมัยวิสามัญ และอยากรู้เช่นกันว่าเสียง 255 คนนั้น ใครและพรรคไหนจะเบี้ยวอีก"ลึกๆของผมแล้ว ยังเชื่อว่า ไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ได้อยู่ด้วย พังราบเป็นหน้ากองไปหมด เพราะเรื่องราวของไทยนั้น เวลาที่ดึงฟืนออกมาได้ แต่กลับหลงตัวเองกัน ผมเชื่อว่า เวลานั้นถ้าพรรครัฐบาลไม่หลงตัวเอง ก็ไม่เกิดพฤษภาทมิฬ วันนี้เช่นกัน ถ้าไม่หลงตัวเอง ไม่ฟังประชาชน ถ้าฟังประชาชนต้องการให้มี สสร. นั้น เป็นการเคารพประชาชน ถ้าบ้านเมืองไปกันไม่ไหวจริงๆแล้ว ก็ยุบสภาฯ ให้ประชาชนดีกว่า ถ้ายังดื้อดึงไม่เชื่อฟังประชาชนแล้ว ท้ายที่สุดประชาชนจะจัดการเองในสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป" นายจตุพร กล่าว

logoline