svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นายกฯปัดหว่านล้อมส.ว.ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ

25 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ปัดล็อบบี้ ส.ว. ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ ชี้วุฒิสภาใช่แค่มีหน้าที่แค่เลือกนายกฯ และไม่ได้คิดอยู่จนโลกแตก เผยกำลังให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาร่างแก้ รธน. ฉบับรัฐบาล ย้ำถ้าไม่มี "ชาติ-ศาสน์-กษัติรย์-สถาบัน" จะอยู่กันอย่างไร เตรียมดำเนินคดีแกนนำม็อบ ไม่วันนี้ก็วันหน้า ลั่นอดทนเต็มที่แล้ว

(25 กันยายน 2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ส่วนตัวไม่มีความเห็นอะไร หลังจากที่ประชุมรัฐสภาวานนี้ (24ก.ย.) มีมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ก่อนเลื่อนรับหลักการไปอีก 1 เดือน โดยเห็นว่าเป็นเรื่องการทำงานของรัฐสภา ที่ 2 สภาฯร่วมกันประชุม ซึ่งบรรยาอากาศวันแรกก็เป็นไปด้วยดี แต่วันที่ 2 เริ่มมีความขัดแย้งมากขึ้น การจะไปก้าวล่วงอะไรต่างๆ หลายคนก็รับไม่ได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการลงมติและเปลี่ยนแปลงมติ ขอย้ำว่านายกฯ ไม่เคยต้องสั่งการอะไร ไม่ใช่ว่าต้องเห็นชอบด้วยกันทั้งหมด และมีบางส่วนที่เห็นต่าง ก็ต้องเคารพความเห็นต่างไม่ใช่หรือ นั่นคือผู้ทรงเกียรติใช่หรือไม่ ทั้งนี้ หากมีการใส่ร้ายว่ากล่าวกันในทางที่ไม่สุภาพ เป็นตนก็รับไม่ได้

ส่วนการชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอกที่นัดชุมนุมและเชิญให้ประชาชนหยุดงาน ในวันที่ 14 ต.ค.63 นั้น คงไม่ต้องกำชับอะไร เพราะว่าทุกคนมีสิทธิ์คิด และทำอะไรก็ได้ตามกระบวนการประชาธิปไตย แต่ต้องเคารพกฎหมาย ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้ ก็มีปัญหามากมาย ทั้งเศรษฐกิจ สังคม โรคระบาด จึงอยากถามว่าสมควรทำหรือไม่ ทำเพื่ออะไร เพื่อใคร ใครได้รับประโยชน์

"ก็ฝากให้คนไทยทั้งประเทศร่วมกันคิดด้วย ประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง และการทำความดีของทุกคน จะช่วยเป็นกุศลให้กับบ้านเมืองสงบสุข เมื่อวานนี้ผมได้พบประชาชนที่ จ.เชียงราย ก็พบว่าประชาชนให้ความร่วมมือดีกับรัฐบาล ปัญหาที่พวกเขาสนใจกว่าในกรุงเทพ ก็คือเรื่องปากท้องของเขา อาชีพ รายได้ ซึ่งรัฐบาลก็ทำเต็มที่ในการดูแล" นายกฯ กล่าว

นอกจากนี้ ยังฝากกับคนไทยทุกคนให้ช่วยกันแก้ปัญหาร่วมกับภาครัฐและเจ้าหน้าที่ เพราะที่ผ่านมาถือว่ามีงานหนัก และพยายามประคับประคองสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบมากที่สุด และไม่ได้นิ่งนอนใจในการดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมหลักฐาน วัตถุพยาน หากไม่เคารพกฎหมาย จะอยู่กันอย่างไร อย่าลืมว่าความมั่นคงของประเทศ เป็นสิ่งที่สำคัญสุดของประเทศเวลานี้

ทั้งนี้ ประชาชนอีก 60 กว่าล้านคน จะว่าอย่างไร เดือดร้อนและยากลำบากอยู่ในขณะนี้ ต้องให้ความสนใจกับทุกด้าน และสร้างการเรียนรู้กับประชาชนให้บ้านเมืองสงบ มีความสามัคคี จะแบ่งแยกกันไม่ได้ เพราะอันตรายต่อประเทศชาติ ในเรื่องความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ รวมทั้งมีการบิดเบือนจากโลกโซเชียลฯ ขอประชาชนเลือกที่จะเสพ จะเชื่อ ตัดสินใจให้ถูกต้องบนพื้นฐานภูมิคุ้มกันที่ดี อย่าเชื่อมากจนเกินไป และควรตรวจสอบข้อมูลต่างๆก่อน ส่วนการใช้ถ้อยคำหยาบคาย ผรุสวาท ว่า เกิดขึ้นจากอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในฐานะที่เราเป็นคนไทยด้วยกัน

"ถ้าไม่มีชาติ ศาสน์ กษัติรย์ สถาบันจะอยู่กันอย่างไรในประเทศไทย ผมไม่รู้ หรือใครเห็นด้วยก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่าเราคงอยู่กันอย่างนั้นไม่ได้ วันหน้าหากเกิดขึ้นมาจริงๆ แล้วใครจะเอาอยู่ ถ้าสู้กันไปกันมาอยู่แบบนี้ ไม่มีคนร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ก็ฝากคนไทยทั้งประเทศ 60 กว่าล้านคน ช่วยกันดูแลด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า การตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาร่างแก้ไขรัธรรมนูญ เป็นการยื้อเวลาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตอนแรกคิดว่าจะเรียบร้อย แต่ในวันที่ 2 จะเห็นว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร คิดว่าทุกคนมีวุฒิภาวะ รักในศักดิ์ศรีของตนเอง เมื่อพูดจาก็ทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปไม่ได้ ส่วนการชะลอไป 1 เดือน ก็เป็นไปตามกฎหมาย และกติกาของสภาฯอยู่แล้ว จะเกิดอะไรขึ้น ก็ขอให้ไปดูในวันข้างหน้าถ้าทุกคนสามารถผ่อนสั้น ผ่อนยาวได้บ้าง

ขณะเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับตน ไม่ได้ทำให้ตนดีขึ้นหรือเลวลง แต่เป็นเรื่องความคิดเห็นของทุกคนตามที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย จึงต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายแล้วเดินหน้าไปด้วยความปรองดอง ซึ่งตนจะไม่ได้คาดหวังอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อวาน แต่เห็นว่าวันแรกก็ดีอยู่ไม่ใช่หรือ

ส่วนกระเเสข่าวการล็อบบี้จากรัฐบาลให้ยื้อเวลาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะล็อบบี้กับใคร และตนจะไปสั่งใคร ส.ว.ก็มีเกียรติและศักดิ์ศรี อย่าลืมว่าใน 250 คน มี 50 คนมาจากการเลือกของประชาชน ส่วนอีก 200 คน มาจากการแต่งตั้งจากบุคคลที่มีศักยภาพ มีประสบการณ์ในการทำงานทั้งจากภาคราชการและเอกชน ขอให้รับฟังว่า ส.ว. ทำอะไรให้เสียหายหรือไม่ หลายคนมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับตน ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าเอื้อประโยชน์ให้อย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เพราะเป็นเรื่องของแต่ละกลไกทำงานกันมา ตนไม่ได้หมายความว่าจะอยู่จนโลกแตก เพราะฉะนั้นอะไรที่หารือกันได้ก็ขอให้หารือ จะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือรายมาตรา ก็ต้องให้เกียรติสภาฯ เพราะเป็นตัวแทนจากประชาชนทั้งหมด หลายคนบอกว่า ส.ว. มาจากตน ซึ่งตนไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวทั้งหมด เป็นเรื่องของการกลั่นกรองขึ้นมา โดยตนเห็นในประสบการณ์จึงอนุมัติไปเท่านั้นเอง เพราะทุกคนก็ทำหน้าที่ของตัวเองมาโดยตลอด ไม่ได้มุ่งหวังมาเพื่อเลือกนายกฯ เท่านั้น และ ส.ว. ทำงานตั้งมากมาย

เมื่อถามว่า จะมีการชุมนุมขึ้นอีกหลายครั้ง จะมีการควบคุมได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่อยากให้เกิดขึ้นสักครั้ง ไม่อยากให้ใครใช้โอกาสนี้ทำให้ประเทศไม่ปลอดภัย ซึ่งในเดือนต.ค.ทุกปี ก็เกิดเหตุการณ์แบบนี้ที่ปลุกระดมกัน ตนคิดว่าประวัติศาสตร์ คือ ประวัติศาสตร์ ในส่วนของประวัติศาสตร์ที่ดีก็ออกมาทำ อันไหนที่ไม่ดีก็อย่าทำ ประวัติศาสตร์สอนให้เรียนรู้เหมือนสงครามโลก

เมื่อถามย้ำว่า ใจของนายกฯ อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อย่าให้ตอบว่าอยากหรือไม่อยาก แต่ตนตอบว่าไม่ขัดข้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนจะไปแก้ไขอย่างไรก็ไปว่ากัน พร้อมย้ำว่ารัฐบาลไม่ทำให้เกิดการชุมนุม หรือเป็นคู่ขัดแย้งกับใคร แต่เป็นการขับเคลื่อนของบุคคลบางคน การปฏิบัติการพูดจาอะไรต่างๆ ถ้าสื่อรับได้ คนไทยรับได้ ตนก็รับได้ แต่วันนี้ตนรับไม่ได้

เมื่อถามว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเพียงเรื่องระหว่างทางใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ให้คิดวิเคราะห์ดูว่าคิดอะไรไปแค่ไหน ส่วนรัฐบาลจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ฝ่ายกฎหมายกำลังดูอยู่

เมื่อถามว่า จะอธิบายอย่างไร ว่าการลาออกและการยุบสภาฯ อาจไม่ใช่ทางออก นายกฯ กล่าวว่า สื่อทราบดีอยู่แล้ว จะใช้อำนาจอะไรมากดดันกันแบบนี้ เพราะวันนี้ (25ก.ย.) ยังมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกตัวอยู่ จะใช้ความรุนแรงกดดันอย่างนี้หรือ หรือใช้ความแตกแยกของคนทุกวัยหรือไม่ ขอให้มองว่าคุ้มค่าหรือไม่กับการกระทำแบบนี้ ซึ่งก็รู้วัตถุประสงค์ว่าทำเพื่ออะไร ซึ่งฝ่ายกฎหมายก็ลำบากใจ ตนได้คุยแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะกฎหมายก็คือกฎหมาย ไม่วันนี้ก็วันหน้า อายุความก็เยอะแยะไปหมด ดังนั้น ตนไม่ต้องการไปปลุกให้คนมาต่อสู้หรือด่าตน บางครั้งตนก็อดทน ซึ่งอดทนเต็มที่แล้ว

logoline