svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ถกวุ่น! "รัฐบาล-ฝ่ายค้าน"ยังเห็นต่างตั้งกมธ.ศึกษาญัตติแก้รัฐธรรมนูญ

24 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พลังประชารัฐ" เสนอควรมีกรรมาธิการศึกษารายละเอียดญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ขณะที่ "สุทิน คลังแสง" ลั่นอย่าเตะถ่วง ควรทำให้ชัดวันนี้ หากขืนตั้งฝ่ายค้านไม่ขอร่วม

(24 กันยายน 2563) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาก่อนรับหลักการ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 121 วรรค 3 เพื่อให้ตัวแทนของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมกันพิจารณาเนื้อหาและความถูกต้องของกฎหมาย เพื่อเป็นความเห็นเสนอต่อสมาชิกรัฐสภาประกอบการพิจารณา รับหรือไม่รับหลักการญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ

ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ตามที่ตกลงกันไว้ คือ เมื่ออภิปรายกันแล้วก็จะเข้าสู่การลงมติรับหลักการ ส่วนข้อเสนอการตั้งกมธ. 1 เดือนแล้วค่อยกลับมาพิจารณาใหม่ ตนเห็นว่าตามข้อบังคับทำได้ ทางฝ่ายค้านตั้งผลสัมฤทธิ์ไว้สูง ทางใดที่จะสำเร็จก็ไม่ขัดข้อง ด้วยเวลาที่เหมาะสม เพื่อคลี่คลายสถานการณ์บ้านเมืองที่จะไม่ช้าเกินไป

อย่างไรก็ตาม จากข้อเสนอนี้ เกรงว่าจะไม่ใช่ทางที่จะประสบความสำเร็จ และจะแก้ไม่ได้ โดยข้ออ้างว่าไม่เคยคุย ไม่ปรึกษากันเลย ข้อมูลก็ไม่ทราบ พอให้ลงมติ แต่วิป 3 ฝ่าย ก็ได้คุยกันเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม และไม่มีใครที่จะเสนอว่าควรตั้งกมธ.หารือกันก่อน เหมือนทุกคนมั่นใจและทำการบ้านมาดี ไม่วิตกอะไรต่อเนื้อหาสาระ

ส่วนข้อสองที่บอกว่า ขอศึกษารายละเอียด แต่ชั้นนี้คือการรับหลักการ ส่วนรายละเอียดสามารถตั้งกมธ.มาพิจารณากันในวาระที่ 2 และข้อมูลตอนนี้ ก็เพียงพอต่อการรับหลักการครบทุกแง่มุม ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่อภิปรายบอกว่า รายละเอียดยังไม่พอ ส.ว. แต่ละคนก็อภิปรายได้อย่างเชี่ยวชาญ จึงคิดว่าการบอกยังไม่รู้รายละเอียด ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จะบอกว่าตั้งกมธ.ศึกษา สภาฯเองก็ตั้งกมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว แล้วก็มีการชี้แจงซักถามกันไปแล้ว ดังนั้น คิดว่าแค่ขั้นรับหลักการเกินพอแล้ว

นายสุทิน กล่าวด้วยว่า ประเด็นต่อมา คือ คิดว่าเหมือนถูกหลอกให้ออกโรงเรียน ถ้ารับว่าตั้งกมธ.ศึกษา รับประกันได้ไหมว่าจะรับหลักการ ถ้าจะตกวันนี้ (24ก.ย.) ตกวันหน้า อะไรเจ็บกว่ากัน สมัยหน้าถ้าตกแล้ว ก็จะเสนออีกไม่ได้ ต้องรออีกเป็นปี หากวันนี้ถ้าตกยังมีร่างของประชาชนเตรียมเสนอต่อ ในสมัยหน้าเดือน พ.ย. แต่ถ้าวันนี้ตั้งกมธ.แล้ว สมัยประชุมหน้าโหวตร่างแล้วตก ฝ่ายค้านก็ไม่มีสิทธิ์เสนออีก ส่วนร่างของประชาชนที่เนื้อหาเหมือนกันก็ตก


"ประชาชนก็จะมองว่าเราอู้ เตะถ่วง สภาฯไม่จริงใจ ฝ่ายค้านเป็นเครื่องมือ เสียหายกันทั้งสภาฯ มีความจำเป็นหรือไม่ ที่ต้องตั้งคณะกมธ. ทั้งที่วาระ 2 ก็จะมีการตั้งอยู่แล้ว ถ้าจะตั้งพวกผมไม่เห็นด้วย และถ้าจะตั้งกมธ.ศึกษา ฝ่ายค้านก็ไม่ขอร่วมศึกษา" ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุ

ด้าน นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า สองวันที่ผ่านมา มีการพูดคุยกันจนถี่ถ้วนแล้ว หลักการแค่ 2 บรรทัดจะต้องไปพิจารณากันถึงหนึ่งเดือน แล้วก็ไม่มีการรับประกันว่าจะรับหลักการ เหมือนหลอกต้มประชาชน ทั้งที่วันนี้มีประชาชนมีรออยู่ที่หน้ารัฐสภา วันนี้ทุกคนอยู่กันครบ พวกตนพร้อมทำหน้าที่ลงมติ และเชื่อว่าทุกคนในที่นี้มีวุฒิภาวะและสติปัญญาในการพิจารณาว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล กล่าวว่า คำที่บอกว่าตกวันนี้ดีกว่าตกวันหน้า ไม่มีใครอยากให้ร่างตัวเองที่เสนอเข้ามาแล้วไม่ผ่านการพิจารณา แต่วันนี้เดินมาถึงทางตัน วันนี้หยุดรอแค่หนึ่งเดือน แล้วหลักประกันก็คือตนเอง ขอให้ทุกคนช่วยกัน และถ้าไอลอว์เข้ามาก็ยินดี

ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า ส.ว.มีหน้าที่สำคัญไม่แพ้กันที่ต้องรักษาประโยชน์ชาติบ้านเมือง กว่ากฎหมายแต่ละฉบับที่จะผ่านสภาผู้แทนราษฎร หลายฉบับไม่ได้รวดเร็ว อย่าใจร้อน ยิ่งรัฐธรรมนูญยิ่งสำคัญมาก ส.ว. เห็นเอกสารแล้วจริง แต่เมื่อได้รับฟังก็มีความกังวลใจ ทั้งข้อกฎหมาย และกังวลว่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ บางญัตติเพิ่งส่งเข้ามา 8 วัน แล้วจะพิจารณารัฐธรรมนูญกันเพียงเวลาเท่านี้หรือ ไม่ใช่ว่ามีม็อบมาแล้วจะรีบพิจารณา

นอกจากนี้ ตนอ่านทั้งหมดแล้ว อ่านรายงานของอนุกมธ. และตรวจสอบรายชื่อในกมธ.พิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มี ส.ว. ร่วมอยู่ด้วย ส.ว. ยังไม่เห็นพ้องด้วย อย่ามัดมือชก ทางออกที่นายไพบูลย์และนายวิรัช เสนอเป็นทางออกที่ไม่ใช่ทางตัน และในสมัยหน้า ส.ว. ก็เสนอร่างได้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เสนอได้เหมือนกัน ตนก็อยากจะแก้ไขบ้าง

ด้านนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ประท้วงนายสมชายว่าพูดเสมือนว่าเป็นตัวแทน ส.ว. ทุกคนให้เป็นคนเดียวกัน

ขณะที่ นายสมชาย กล่าวว่า ส่วนแถลงในนามของวิปวุฒิสภา และถ้าศึกษาร่วมกัน ข้อเสนอของวุฒิสภา ก็จะได้มาศึกษาด้วย การร่างใหม่ต้องพิจารณาว่าจะทำประชามติหรือไม่ และถ้ารับทั้ง 6 ร่างจะขัดหรือแย้งกันหรือไม่ ต้องไปศึกษาร่วมกันไม่ใช่ฟังจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียว เมื่อศึกษาอย่างรอบคอบรัดกุมก็พร้อมที่จะพิจารณาต่อไปได้

ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คำอ้างว่าหาทางออก ขอถามว่าทางออกให้ใคร แต่ไม่ใช่ทางออกให้ประชาชนมันควรหรือไม่ ถ้ามีทางออกจากเรื่องนี้ แต่จะไม่มีทางออกไปถนน และหลักการของไอลอว์ ก็เหมือนกับร่างที่พรรคฝ่ายค้านเสนอ และหลักการไม่มีความซับซ้อนอะไร

"ท่านกำลังจะใช้ข้อกฎหมายปิดกั้นโอกาสพิจารณาของประชาชน การดึงจังหวะไม่รับหลักการวันนี้ออกไปเป็นการแก้ปัญหา เมื่ออาสาเข้ามาแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ ทำไมต้องเอาตัวรอดการแก้ไขปัญหาในสภาพที่มีปัญหา คือ การเติมปัญหา ถ้าดึงยืดออกไป 1 เดือน ก็อยากให้เลือกตั้งกันใหม่ หรือไม่รัฐบาลชุดนี้ ก็จะอายุสั้นมากขึ้น" นพ.ชลน่าน กล่าว

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขั้นตอนคือการรับหลักการ ตั้งกรรมาธิการ แล้วให้ประชาชนลงประชามติ ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร ที่ใช้ในสภาฯ 2 วันนี้ แล้วมานั่งเล่นกลกันเป็นเรื่องน่าเสียใจ สาบานต่อหน้าพระสยามเทวาธิราชก็ได้ ว่าการตั้งกมธ. เป็นแนวคิดของตัวเอง แต่ส่วนตัวเชื่อว่ามันเป็นใบสั่ง

logoline