svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

เจาะจุดเสี่ยง สยบอุบัติเหตุโค้งร้อยศพรัชดา

24 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โค้งร้อยศพรัชดา หนึ่งในสถานที่เกิดอุบัติเหตุคร่าชีวิตบ่อยครั้ง ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมาคือนายอรรณพ พูนศรีพัฒนา อายุ 33 ปี หรือ ดีเจก๊อง ซึ่งเคยเป็นผู้เข้าร่วมสมัครรายการเทคมีเอาท์ไทยแลนด์ เมื่อปี 2558 และจุดที่เกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตมาแล้ว 4 รายภายในเดือนนี้นับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา

ทางทีมข่าวเนชั่นทีวีออนไลน์ ขอนำบทสัมภาษณ์รายการ "คมชัดลึก" ออกอากาศเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2555 ตอน "เสาะจุดเสี่ยง .. สยบอุบัติเหตุ? " โดยมีผู้ร่วมรายการประกอบด้วย รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ จากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย AIT น.พ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และ พล.ต.ต.โกสินทร์ หินเธาว์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ห้วหน้าคณะทำงานการสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนเพื่อการแก้ไขป้องกันอย่างบูรณาการ

เจาะจุดเสี่ยง สยบอุบัติเหตุโค้งร้อยศพรัชดา


รศ.ดร.กัณวีร์ กล่าวว่า หากจุดไหนมีความเสี่ยงมากก็ควรจะเพิ่มอุปกรณ์ป้องกันมากขึ้น การทำเนินสโลปขณะนี้ต่างประเทศไม่ใช้ เพราะรู้ว่ามีโอกาสที่จะเหินและตกลงมา จึงมีแนวคิดว่าควรติดตั้งอุปกรณ์เพื่อลดแรงปะทะ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการติดตั้งในไทยบ้างแล้ว โดยด้านนอกเป็นราวเหล็กปกติ ส่วนด้านในเป็นถังที่ทำจากโพลิเอธิลีน ทำให้เหมือนชนพลาสติกความรุนแรงก็จะน้อยกว่า
รศ.ดร.กัณวีร์ กล่าวต่อว่า ความคิดของคนในการออกแบบถนนคืออยากปลูกต้นไม้ข้างทางเยอะๆ เพื่อเพิ่มทัศนียภาพให้ร่มรื่น ดูแล้วอาจจะสบายตา แต่หากเราเสียหลักหลุดออกข้างทาง แทนที่ถนนจะสร้างรองรับความผิดพลาด กลับต้องไปชนต้นไม้ หลายครั้งที่ต้นไม้อยู่แต่รถหักสองท่อน การปลูกต้นไม้ควรปลูกห่างออกไป ส่วนระยะห่างต้องดูตามการใช้ความเร็วของถนนเส้นนั้นๆ

น.พ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า การทำถนนหรือทำสัญญานเตือน ควรจะออกแบบให้ผู้ที่จะตัดสินใจสามารถระมัดระวังได้พอและไม่เกิดความเสี่ยง ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะหลายที่ไม่สามารถเวนคืนได้มากพอจึงมีพื้นที่จำกัดและกลายเป็นพื้นที่เสี่ยง ส่วนการทำเนินสโลปก็มีเงื่อนไขว่าต้องจำกัดความเร็วในระดับหนึ่ง แต่หลายที่มีการใช้ความเร็ว ดังนั้นหากเราขับเร็วก็ควรมาทบทวนมาตรฐานของการป้องกัน เราควรออกแบบถนนไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เช่นดึงหางตัววายให้ยาว ติดไฟให้ชัด แต่หากมีโอกาสเกิดแล้วต้องเข้าปะทะก็ต้องออกแบบไม่ให้เสียชีวิตคือต้องมีตัวลดแรงปะทะอุปกรณ์เหล่านี้ต่างประเทศมีมานานแล้ว เพราะเขามีแนวคิดว่าคนมีโอกาสผิดพลาดได้ ดังนั้นอุปกรณ์จึงต้องเป็นหัวใจ

เจาะจุดเสี่ยง สยบอุบัติเหตุโค้งร้อยศพรัชดา


น.พ.ธนะพงศ์กล่าวต่อว่า แต่ละถนนจะออกแบบมาว่ารองรับความเร็วได้เท่าไหร่ เช่นโค้งที่ถนนรัชดาภิเษก ที่จะรับความเร็วในเมืองคือ 60 - 80 กม.ต่อชั่วโมง จึงไม่ต้องยกสโลปให้รองรับ แต่กลางคืนมีการใช้ความเร็วมากขึ้นทำให้ไม่รองรับและเกิดอุบัติเหตุ
"เราต้องปรับทรรศนะ ทำอย่างไรให้ตำรวจใช้ข้อมูลมากขึ้น ว่าการเกิดอุบัติเหตุมีเหตุอื่นไหมนอกจากคน หากตำรวจตั้งหลักได้ นี่จะเป็นการแก้ไขปัญหา " น.พ.ธนะพงศ์กล่าว
พล.ต.ต.โกสินทร์กล่าวว่า แยกตัววายเป็นเพียงจุดหนึ่งของจุดอันตรายเท่านั้น แต่ยังมีต้นไม้ เกาะกลางถนน เหล่านี้เป็นจุดตายทั้งสิ้น ส่วนกรณีแยกตัววายมีการทำที่กั้นให้เป็นการไสลด์ขึ้นเพื่อรับแรงปะทะ แต่กลายเป็นการยกให้รถเหินขึ้นและตกลงมา ดังนั้นต้องทำอย่างไรไม่ให้ตก เช่นทำที่กั้นที่รอง ตะแกรงเตรียมไว้ นอกจากนี้ควรมีตัวรับแรงปะทะเช่นเหล็กพับ อย่างไรก็ตามปัจจุบันเรามีน้อยมากเพราะเพิ่งนำเข้ามา
พล.ต.ต.โกสินทร์กล่าวต่อว่า เราจะโทษถนนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูพฤติกรรมคนขับขี่ สภาพของรถ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมขนส่งทางบก เจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ยังมีสภาพแวดล้อมเช่น ฝนตก มีน้ำมันหก อย่างไรก็ตามจากการสำรวจอุบัติเหตุ 80% เกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่
พล.ต.ต.โกสินทร์ กล่าวถึงกรณีโค้งร้อยศพต่างๆว่า เราต้องถามว่าเมื่อมีศพแรกเราทำอะไรหรือไม่ หากไม่ทำก็จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยตำรวจเราก็พยายามแก้ปัญหา โดยเปลี่ยนบทบาทจากการทำแค่คดี มาเป็นการเก็บข้อมูลของสาเหตุต่างๆ ที่นอกเหนือออกไป และนำมาวิเคราะห์พร้อมแก้ไขเลยในเชิงรุก เช่นหากเกิดจากการขับย้อนศร เราก็ต้องไปตั้งด่านข้างหน้า หรือหากเกิดจากความเร็ว ก็ต้องมาปักป้ายเตือนตรวจจับความเร็ว

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหุตบนท้องถนนรายนี้ แนะนำว่า ทางออกของปัญหาต้องแก้ที่การจำกัดความเร็ว และวิธีที่ได้ผลที่สุดคือใช้หลักทางด้านวิศวกรรมจราจร

เจาะจุดเสี่ยง สยบอุบัติเหตุโค้งร้อยศพรัชดา


1.ใช้ป้ายเตือน สัญญาณไฟกะพริบเตือนเป็นตัวกำหนดความเร็ว เช่น "ลดความเร็ว""ระวังทางโค้ง" "เขตชุมชนโปรดลดความเร็ว" หรือ "ห้ามใช้ความเร็วเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง" เป็นต้น
2.การเตือนเป็นการตัวอักษร ตัวเลข หรือสัญลักษณ์ที่เข้าใจได้ง่ายลงบนพื้นถนน หรือเรียกว่า "มาร์กกิ้ง"
3.การเตือนด้วยลูกระนาด (Rumble Strip ) เป็นเครื่องหมายจราจรบนผิวทางที่มีลักษณะเป็นเส้นหลายๆเส้นเพื่อให้ขับรถให้ช้าลง เมื่อผ่านเส้นชะลอความเร็วรถจะเกิดอาการสั่นสะเทือน ทำให้ผู้ขับขี่ตื่นตัวและเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ
4.บีบถนนให้แคบลง ด้วยการตีเส้นช่องทาง หรือขีดเส้นเป็นสัญลักษณ์เตือนให้ลดความเร็วที่มองเห็นได้ง่าย เรียกว่า Optical speed bar หรือเครื่องหมายที่ติดตั้งบนไหล่ทางที่เรียกว่า Shoulder Rumble Strip คล้ายที่สะพานข้ามห้าแยกลาดพร้าว ทำให้คนขับรถรู้สึกว่าถนนแคบลง และจะลดความเร็วลงโดยอัตโนมัติ
5.เพ้นท์สีทึบลงบนพื้นถนนตรงช่วงโค้งเพื่อให้ยึดเกาะถนนได้ดี ทั้งยังมีส่วนช่วยให้รถชลอความเร็วลงด้วย
อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ว่าหลังจากมีการปรับปรุงถนนให้มีความรับโค้งมากขึ้น ตั้งแต่ติดป้ายเตือน สัญญาณไฟกะพริบ รวมไปถึงลูกระนาดชะลอความเร็ว อัตราการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงบริเวณโค้งร้อยศพ หน้าศาลอาญารัชดาภิเษกลดลงอย่างเห็นได้ชัด

logoline