svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"ทรัมป์-ไบเดน" เปิดแนวรบใหม่ ชิงตั้งผู้พิพากษา "ศาลสูง"

24 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โดนัลด์ ทรัมป์ กับ โจ ไบเดน กำลังเปิด "แนวรบใหม่" ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี คราวนี้เป็นเรื่องของ "ศาลสูง (Supreme Court)" สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของ "รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก" ผู้ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้พิพากษาศาลสูงเพศหญิงคนที่ 2 ของสหรัฐฯ โดยกินส์เบิร์กซึ่งได้รับการยกย่องในฐานะ "ตำนาน" ของผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและความเท่าเทียมกันทางเพศได้จากไปด้วยโรคมะเร็งในวัย 87 ปี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

แต่การเสียชีวิตของกินส์เบิร์กก่อนการเลือกตั้งแค่เดือนเศษๆ ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า กระบวนการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงคนใหม่ควรจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง

"ทรัมป์-ไบเดน" เปิดแนวรบใหม่ ชิงตั้งผู้พิพากษา "ศาลสูง"


สำหรับกระบวนการแต่งตั้ง รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ กำหนดให้ "ประธานาธิบดี" เป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการกิจการศาลของ "วุฒิสภา" ในการไต่สวน ก่อนที่จะให้สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 100 คนลงมติรับรอง โดยต้องได้เสียงสนับสนุนเกิน "กึ่งหนึ่ง" หรือ 51 เสียงขึ้นไป

"ทรัมป์-ไบเดน" เปิดแนวรบใหม่ ชิงตั้งผู้พิพากษา "ศาลสูง"

ปกติแล้วองค์คณะผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐฯ มีจำนวน 9 คน และมักถูก "แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว" ได้แก่ ขั้วอนุรักษ์นิยม (Conservative) และขั้วเสรีนิยม (Liberal) ขึ้นอยู่กับว่าประธานาธิบดีจากพรรคใดเป็นคนเสนอชื่อ โดยก่อนหน้านี้ผู้พิพากษาฝั่งอนุรักษ์นิยมมีจำนวน 5 คน ในจำนวนนี้ 2 คนเป็นผู้ที่ทรัมป์เสนอชื่อเข้ามา ขณะที่ฝั่งเสรีนิยมเดิมทีมี 4 คน แต่พอกินส์เบิร์กเสียชีวิต จำนวนผู้พิพากษาของขั้วเสรีนิยมเมื่อเทียบกับอนุรักษ์นิยมก็เลยกลายเป็น 3 ต่อ 5 และอาจห่างขึ้นเป็น 3 ต่อ 6 หากทรัมป์สามารถแต่งตั้งผู้พิพากษาคนใหม่ได้สำเร็จ

"ทรัมป์-ไบเดน" เปิดแนวรบใหม่ ชิงตั้งผู้พิพากษา "ศาลสูง"

ด้วยเหตุนี้ทรัมป์กับ ส.ว.พรรครีพับลิกันจึงไม่รอช้า รีบผลักดันกระบวนการแต่งตั้งให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง หรืออย่างช้าภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากปัจจุบันพรรครีพับลิกันเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา

"ทรัมป์-ไบเดน" เปิดแนวรบใหม่ ชิงตั้งผู้พิพากษา "ศาลสูง"


ด้านไบเดนและพรรคเดโมแครตไม่เห็นด้วยกับทรัมป์ มองว่าตาม "มารยาททางการเมือง" ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกตั้งก่อน แล้วค่อยให้ผู้นำคนใหม่ไม่ว่าจะเป็นทรัมป์หรือไบเดนก็ตามเป็นผู้เสนอชื่อหลังสาบานตนรับตำแหน่งในเดือนมกราคมปีหน้า โดยฝ่ายเดโมแครตได้ยกตัวอย่างกรณีคล้ายคลึงกันเมื่อต้นปี 2559 ที่มีผู้พากษาศาลสูงฝ่ายอนุรักษ์นิยมเสียชีวิต แต่ ส.ว.รีพับลิกันเสียงข้างมากในขณะนั้นกลับไม่ยอมพิจารณาผู้ที่อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามาเสนอชื่อ โดยอ้างว่า "ใกล้วันเลือกตั้งเกินไป" แต่มาตอนนี้กลับ "กลืนน้ำลายตัวเอง"
ขณะเดียวกันก่อนเสียชีวิตไม่กี่วัน กินส์เบิร์กได้เขียน "คำสั่งเสีย" ฝากไว้กับหลานสาวด้วยว่า ความปรารถนาสูงสุดของเธอ คือการที่ผู้พิพากษาคนต่อไปจะยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง "จนกว่าจะมีประธานาธิบดีคนใหม่"
อย่างไรก็ตามทรัมป์กลับตั้งคำถามว่า คำสั่งเสียนี้เป็นของจริงหรือไม่ และยืนยันว่าตัวเขามี "หน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ" ในการเสนอชื่อผู้พิพากษาคนใหม่ทันที ส่วนไบเดนโจมตีว่า ทรัมป์กำลังใช้อำนาจประธานาธิบดีโดยมิชอบและอาจนำพาประเทศไปสู่ "วิกฤตรัฐธรรมนูญ" ได้

สาเหตุที่ทรัมป์และไบเดนต้องต่อสู้กันอย่างดุเดือดขนาดนี้ ก็เพราะว่าผู้พิพากษาศาลสูงสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ "ตลอดชีวิต" หากไม่เกษียณตัวเองไปเสียก่อน โดยศาลสูงมีหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญ และชี้ขาดประเด็นซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพกปืน ประกันสุขภาพ การรับผู้อพยพ กัญชาถูกกฎหมาย การทำแท้ง การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ไปจนถึงข้อพิพาทในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2543 และอาจเกิดขึ้นซ้ำรอยในปีนี้ก็เป็นได้

"ทรัมป์-ไบเดน" เปิดแนวรบใหม่ ชิงตั้งผู้พิพากษา "ศาลสูง"


ทรัมป์ระบุว่า เขาจะเปิดเผยชื่อผู้ที่เขามองว่าเหมาะสมที่สุดในวันเสาร์นี้ และจะเป็น "ผู้หญิง" เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าทรัมป์หวังจะใช้เรื่องนี้มาช่วยเพิ่มคะแนนนิยมในกลุ่มผู้หญิง โดยจนถึงขณะนี้มีตัวเก็ง 2 คน ได้แก่ เอมี โคนีย์ แบร์เร็ตต์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่มีจุดยืนต่อต้านการทำแท้ง และอาจช่วยให้ทรัมป์ได้เสียงสนับสนุนจากกลุ่มผู้ที่เคร่งศาสนา ส่วนอีกคนคือ บาร์บารา ลากัว ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เชื้อสายคิวบาจากรัฐฟลอริดาที่อาจช่วยให้ทรัมป์ได้ใจฐานเสียงชาวอเมริกันเชื้อสายละตินโดยเฉพาะในรัฐฟลอริดาซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐที่สำคัญที่สุดในการ "วัดผล" การเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รอบนี้ แม้ทรัมป์และไบเดนจะขัดแย้งกันหลายเรื่อง แต่ก็คงไม่มีเรื่องไหนสำคัญไปกว่าเรื่องศาลสูงอีกแล้ว เพราะในขณะที่หลายเรื่องอาจจบลงในวันเลือกตั้ง แต่การแต่งตั้งผู้พิพากษาจะส่งผลต่อสังคมอเมริกาและชีวิตชาวอเมริกันทุกคนไปอีกยาวนานหลายสิบปี

"ทรัมป์-ไบเดน" เปิดแนวรบใหม่ ชิงตั้งผู้พิพากษา "ศาลสูง"

logoline