svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พรเพชร"รับส.ว.เสียงยังแตกลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

22 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"วิปวุฒิสภา" เรียกประชุมลับถกทิศทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ขณะที่ "พรเพชร วิชิตชลชัย" ยอมรับยังมีส.ว.เสียงแตก ชี้เปรยม็อบมีส่วนกดดัน แต่ไร้ผลต่อการลงมติ พร้อมเสนอตั้งกมธ.พิจารณาร่างทั้งหมดก่อนดำเนินการ เพื่อยื้อเวลาลงมติ 24 ก.ย.นี้ ตามข้อเสนอวิปรัฐบาล

(22 กันยายน 2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการประสานงานกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้เรียกประชุมลับ เพื่อวางกรอบการพิจารณาของส.ว.ในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ระหว่างวันที่ 23-24 ก.ย. โดยใช้เวลาการประชุมนาน 2 ชั่วโมง

โดยนายพรเพชร กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมให้สิทธิ์ส.ว.โหวตอย่างอิสระในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่าไม่มีใบสั่งมาจากฝ่ายใด ซึ่ง ส.ว.หลายคนบอกว่า อยากให้การลงมติครั้งนี้ ยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ส.ว.บางคนบอกว่ามีคำตอบอยู่ในใจแล้ว แต่ไม่ต้องการบอก เพราะกลัวเป็นการชี้นำ

ทั้งนี้ ยอมรับว่าขณะนี้ส.ว.มีความเห็นต่างกันในเรื่องการลงมติ ส่วนจะมีกลุ่มนิสิตนักศึกษามาชุมนุมหน้ารัฐสภา ในวันที่ 24 ก.ย. ยอมรับเป็นความกดดัน แต่ไม่มีผลต่อการลงมติของ ส.ว. เพราะเชื่อว่าแต่ละคนมีความคิดเป็นของตัวเอง จึงอยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมติดตามการอภิปรายอยู่ที่บ้านจะดีกว่า เพราะหากไม่เห็นด้วยกับประเด็นใด สามารถแสดงความคิดเห็นมาได้ และเป็นการช่วยเหลือส.ว.ด้วย

สำหรับการประชุมวิปส.ว. มีการรายงานให้ทราบถึงข้อเสนอจากที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (22ก.ย.) ว่ามีข้อเสนอไม่ให้มีการลงมติในวันที่ 24 ก.ย. โดยให้ใช้วิธีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อศึกษาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด เพื่อความรอบคอบ ซึ่งตามระเบียบระยะเวลาการศึกษา 45 วัน ซึ่งสามารถใช้เวลาช่วงที่ปิดสมัยประชุมไปพิจารณาหารือ และนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง

"ช่วงเปิดสมัยประชุมวันที่ 1 พ.ย. ซึ่งส.ว.ขอฟังเหตุผลก่อนว่า จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แล้วค่อยตัดสินใจ เพราะขณะนี้ 4 ญัตติของฝ่ายค้านที่ให้แก้ไขรายมาตรา ส.ว.ยังไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเป็นการเสนอมาอย่างเร่งด่วน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่มาจากแนวคิดของส.ว." นายพรเพชร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวทางการเสนอให้ตั้งกมธ.ขึ้นมาศึกษาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 121 วรรค 3 ที่ให้ที่ประชุมรัฐสภาสามารถตั้งกมธ.ขึ้นมาพิจารณาศึกษาออกมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการลงมติรับหลักการ แนวทางดังกล่าวเป็นข้อเสนอจากทางวิปรัฐบาล เพื่อยืดเวลาไม่ให้มีการลงมติในวันที่ 24 ก.ย.

เพราะขณะนี้เสียงของส.ว.มีความเห็นต่างเป็นอย่างมากในเรื่องของการแก้หรือไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่รู้ว่าจะออกมาในแนวทางใด เพราะถ้าเสียงให้โหวตในวันที่ 24 ก.ย. อาจจะถูกคว่ำทั้ง 6 ญัตติ จึงได้เสนอแนวทางนี้ เพื่อยื้อเวลานำร่างทั้ง 6 ฉบับไปศึกษาเพื่อความรอบคอบอีกครั้ง รวมถึงนำร่างของภาคประชาชนที่เสนอมาเข้ามาพิจารณารวมด้วย จากนั้นค่อยนำมาโหวตในที่ประชุมสมัยประชุมหน้าต่อไป

logoline