svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นายกฯชี้ต้องปรับแผนพัฒนาชาติรับ New Normal

21 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ประชุมติดตามประเมินผลในช่วงครึ่งแผนแม่บทในระยะที่ 1 (พ.ศ.2561 - 2565) และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ย้ำต้องปรับแผนพัฒนาชาติรับ New Normal

วันนี้ (21 กันยายน 2563) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดการประชุม ประจำปี 2563 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อติดตามประเมินผลในช่วงครึ่งแผนแม่บทในระยะที่ 1 (พ.ศ.2561 - 2565) และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และกล่าวปาฐกถาพิเศษ "ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด" โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกฯ และนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสศช. ข้าราชการและสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพคฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะดีขึ้น แต่ประมาทไม่ได้ ยังต้องเฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมีแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 เป็นก้าวแรกของการเดินทาง เน้นการวางรากฐานที่แข็งแกร่ง กำจัดจุดอ่อนเชิงโครงสร้าง และพัฒนาจุดแข็งในช่วงชีวิตวิถีใหม่ สำหรับอนาคต โดยผลักดันการพัฒนาสำคัญหลายด้าน อาทิ 1.การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

2.การช่วยเหลือเกษตรกรผ่านการประกันรายได้ 3.โครงการชิมช็อปใช้ กระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศ 4.การอนุมัติงบบัตรทอง 5.การเพิ่มเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 6.การแก้ปัญหาภัยแล้ง และ 7.โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งยังได้ดำเนินการรับมือกับการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงินกู้ฉุกเฉิน มาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา การยืดเวลาการชำระภาษีเงินได้ เพื่อลดภาระให้กับประชาชน ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน


ส่วนการเดินหน้าบริหารงานภายใต้การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการจัดทำแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ อันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด -19 พ.ศ. 2564 - 2565 เพื่อตอบโจทย์เป้าหมาย สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.การสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก 2.เน้นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค 3.เน้นกระตุ้นอุปสงค์ และการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างการอนุมัติโครงการสำคัญต่างๆ เช่น โครงการ 1 ตำบลกลุ่ม 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ (โคก หนอง นา โมเดล) โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ

นอกจากนี้ นายกฯยังย้ำทิศทางการพัฒนาประเทศและศักยภาพที่สำคัญของไทยที่สามารถ "ล้มแล้วลุกไว" (Resilience) ภายใต้ 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1.การพร้อมรับ 2.การปรับตัว 3.การเปลี่ยนแปลง เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยเป้าหมายสำคัญคือ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และวางรากฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่

โดยมี 4 ประเด็นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษใน 2 ปีข้างหน้า คือ 1. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ 2. การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว 3. การพัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของคน 4. การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวเผยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในยุคชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ว่า ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยกันพัฒนาตนเองเพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะทุกคน คือ ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยร่วมกันในทุกระดับไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

logoline