svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อดีตแกนนำม็อบแนะลดรุนแรงชุมนุม19ก.ย.ต้องหันหน้าคุยกัน

17 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"อดีตแกนนำม็อบ" ร่วมวงเสวนาถอดบทเรียนชุมนุมทางการเมือง มองความขัดแย้งส่วนใหญ่เกิดจากอำนาจรัฐ ขณะที่ "สมชาย หอมละออ" ค้านธรรมศาสตร์ปิดพื้นที่แสดงออก ย้ำเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

(17 กันยายน 2563)คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาฯ 35 พร้อมด้วย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกันจัดเสวนา "ถอดบทเรียนจากประสบการณ์การชุมนุมทางการเมืองและข้อเสนอต่อสังคม" ณ หอประชุมศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

โดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาฯ 35 กล่าวว่า ส่วนตัวให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ และขอให้ผู้ปกครองจงภูมิใจในการออกมาเรียกร้องอนาคตของพวกเขา ซึ่งมองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะชนะ แต่เป็นการพิสูจน์ให้ภาครัฐต้องคืนนำอาจให้ประชาชน เนื่องจากมองว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว

ขณะที่ นายสมชาย หอมละออ คนเดือนตุลาและอดีตผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาคม 2519 กล่าวว่า ส่วนตัวคัดค้านผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ห้ามนักศึกษาจัดการชุมนุม เนื่องจากมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น และยังมองว่านิสิตนักศึกษาควรมีสถานที่ในการแสดงออกอย่างปลอดภัย นักศึกษามีสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง จนไม่สามารถหาข้อยุติได้ ซึ่งการชุมนุมไม่ว่าฝ่ายใด กทม. รัฐบาล ควรอำนวยความสะดวก นอกจากจะเป็นแสดงการเคารพสิทธิ์ของประชาชนแล้ว ยังสามารถลดความขัดแย้งได้

ด้านนายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข อดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของการชุมนุมทางการเมือง ณ ขณะนั้นว่า กลุ่มนักศึกษาออกมาต่อต้าน รสช. จนทำให้เกิดกระแสการปฏิรูปสื่อ และเรียกร้องให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 เช่นเดียวกันกับการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และต่อต้านอำนาจรัฐเผด็จการ

นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) มองว่า ภาครัฐควรคำนึงในเรื่องความขัดแย้ง จนนำไปสู่ความรุนแรงที่อาจจะเกิดในวันที่ 19 ก.ย.นี้ แต่สิ่งที่น่าจับตา คือ เกิดขึ้นเพราะใคร แต่ส่วนตัวมองว่าความรุงแรงที่ผ่านมา ไม่เคยเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ชุมนุม แต่เกิดขึ้นจากอำนาจรัฐ ที่พยายามบีบ กดทับผู้ชุมนุม ซึ่งวิธีการป้องกันความขัดแย้งเกิดทั้งสองฝ่าย ต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน

สำทับด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ภาครัฐสามารถกำหนดได้ว่าจะให้การชุมนุมทางการเมืองรุนแรงได้หรือไม่ โดยรัฐต้องเลิกคิดว่าผู้ชุมนุมมีท่อน้ำเลี้ยง ต้องดูแลปกป้องกลุ่มผู้ชุมนุม ให้แก้ปัญหาที่เบื้องหน้ามากกว่าเบื้องหลัง แล้วหันหน้ามาพูดคุยกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นและนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตแกนนำ กปปส. กล่าวว่า ทุกๆ การชุมนุมีเงื่อนไขเสมอ ที่ทำให้คนหลายคนออกมาเสี่ยงชีวิต ออกมาใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แต่การชุมนุมครั้งนี้แตกต่างจากการชุมนุมครั้งที่ผ่านมา ตรงที่มีสื่อสังคมออนไลน์ ที่สร้างความเห็นอย่างแตกต่าง รวมถึงสื่อเลือกข้างที่สร้างวาทกรรม กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงมากขึ้น

ด้าน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา อดีตแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวถึงการทำหน้าที่ของสื่อ ที่ปลุกปั่นคนในสังคม จนเกิดปัญหาฝังรากลึก ทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน สถาบันทางการศึกษา สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัญหาในระยะยาว จึงอยากให้สื่อมวลชนนำเสนออย่างเป็นกลาง นอกจากนี้ ให้กลไกรัฐสภาทำหน้าที่ในการพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อรับฟังกันละกัน รวมถึง ส.ว. ที่มีส่วนทำให้การเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญ ให้สามารถเปิดทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขกฎหมาย

อดีตแกนนำม็อบแนะลดรุนแรงชุมนุม19ก.ย.ต้องหันหน้าคุยกัน

logoline