svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ก้าวไกล"ยัน3แกนนำปลดแอกชุมนุมตามสิทธิของรธน.

16 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ปดิพัทธ์ สันติภาดา" ห่วงใย 3 แกนนำปลดแอก หลังศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย ย้ำการชุมนุมของนักศึกษาเป็นสิทธิตามรธน. เชื่อผลพิจารณาไม่ออกมาลบ ย้ำถ้าใช่จะส่งผลเสียต่อองค์กรตุลาการมากกว่าดี

(17 กันยายน 2563)นายปดิพัทธ์ สันติภาดาส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารสารมวลชน เเละการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า ส่วนตัวมีความใยต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องนายณฐพร โตประยูร เพื่อวินิจฉัยกรณีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่นั้น

โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้องเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง เกี่ยวกับการจัดการชุมนุมปราศรัยของคณะบุคคล ซึ่งการชุมนุมปราศรัยในวันดังกล่าว มีผู้กล่าวปราศรัย 3 คน ที่กระทำตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง คือ นายอานนท์ นำภา นายภานุพงศ์ จาดนอก และน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"ผมในฐานะประธานกมธ.พัฒนาการเมืองฯ ที่ได้ติดตามการชุมนุม เชิญผู้ชุมนุมหลายกลุ่มมาให้ข้อมูลต่างๆตลอดช่วงที่มา ขอยืนยันต่อทุกท่านว่า การชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ถูกต้อง และเป็นการแสดงออกถึงการเป็นพลเมือง และเนื้อหาของผู้ชุมนุมเป็นสิ่งที่สามารถนำมาหารือ ถกเถียงได้ ยังอยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยังไม่มีแม้แต่เรื่องเดียวที่เสนอให้ล้มล้างการปกครอง" นายปดิพัทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยต่อไปนั้น ไม่ได้หมายความว่า การเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ละเมิดรัฐธรรมนูญ การรับคำร้องดังกล่าวเป็นแค่เพียงการรับเรื่องเอาไว้เพื่อวินิจฉัยเท่านั้น และในฐานะประธานกมธ. ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังเชื่อว่าเมื่อการเคลื่อนไหวของประชาชนและนิสิตนักศึกษายังอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่น่าจะวินิจฉัยให้เป็นผลร้ายต่อนายอานนท์ น.ส.ปนัสยา และนายภานุพงศ์

ทั้งนี้ เพราะหากปรากฎว่าการวินิจฉัยดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญออกมา ว่าการชุมนุมของบุคคลทั้ง 3 คนเป็นการล้มล้างการปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทำนั้นเสีย อาจกลายเป็นสาเหตุให้มีบุคคลใช้คำวินิจฉัยดังกล่าว เพื่อในการฟ้องคดีอาญาต่อแกนนำทั้ง 3 คนต่อไปได้ ซึ่งจะผลเสียอย่างมาก ต่อการใช้เสรีภาพของประชาชนโดยรวม และท้ายที่สุดอาจทำให้ประชาชนรู้สึกว่า องค์กรตุลาการตกเป็นเครื่องมือของรัฐ เพื่อใช้กฏหมายปิดปากประชาชนได้

"สุดท้ายนี้ความอยุติธรรมและนิติสงครามจะคุกคามมาถึงระดับของประชาชน นักเรียน นักศึกษา ที่เรียกร้องประชาธิปไตยหรือไม่ สังคมไทยจะต้องจับตาดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด" นายปดิพัทธ์ กล่าว

logoline