svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

14 ก.ย. 2485 วันเริ่มต้น "ยืนตรงเคารพธงชาติ"

13 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ (14 กันยายน) เมื่อปี พ.ศ. 2485 นับเป็นวันที่คนไทยเริ่มต้นพิธีการ "ยืนตรงเคารพธงชาติ" อย่างริงจังเป็นครั้งแรก ซึ่งก็กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือกันมาจนถึงปัจจุบัน

เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่วัยเด็ก ที่ต้องหยุดยืนตรงเมื่อได้ยินสัญญาณเพลงชาติดังขึ้นในเวลา 08.00 น. และในเวลา 18.00 น. ของทุกๆวัน แต่หลายคยังไม่รู้ว่าพิธีการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใดและด้วยเหตุผลอะไร วันนี้มีคำตอบ...
พิธีการดังกล่าว จริงๆแล้วเริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2478 เมื่อรัฐบาลได้ออกกฎกระทรวงมหาดไทยเรื่อง ระเบียบการชักธงชาติและการประดับธงชาติ แต่เวลานั้นการยืนเคารพธงชาติยังไม่ได้รับความนิยมและไม่มีการปฏิบัติอย่างแพร่หลายเท่าที่ควร
ต่อมาเริ่มมีการปลูกฝังแนวคิด ชาตินิยม ในสังคมไทย เกิดขึ้นในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดย จอมพล ป. มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า จึงได้คิดหาวิธีที่จะให้รัฐบาลของตนมั่นคงและบริหารประเทศได้นานที่สุด
วิธีที่ทำได้ดีที่สุดคือ พยายามชักจูงประชาชนให้สนับสนุนตนมากที่สุด โดยใช้วิธีการปลูกฝัง ชาตินิยม ในหมู่ประชาชน ในช่วงนั้นก็มีเหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสบีบบังคับเอาดินแดนไปจากไทย และการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นเพื่อประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา จึงต้องทำให้คนไทยเกิดความรู้สึกร่วมที่จะสนับสนุนรัฐบาล
จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความเห็นว่า ธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นสิ่งที่ชาวไทยควรให้การเคารพ และเชิดชู คณะรัฐมนตรีจึงได้ประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2482 ดังนี้

1. เมื่อได้เห็นการชักธงชาติขึ้นหรือลงจากเสาประจำสถานที่ราชการตามเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยวหรือนกหวีดเป่าคำนับ หรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติ หรือลดธงชาติ ให้ทุกคนแสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบ หรือตามประเพณีนิยม
2. เมื่อได้เห็นธงไชยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามประเพณีนิยม
3. เมื่อได้ยินเพลงชาติ ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในงานพิธีอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงานอยู่ในวงงานนั้นแสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบ หรือตามประเพณีนิยม
4. เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในโรงมหรสพหรือในงานสโมสรใดๆก็ดี ให้ผู้ร่วมงานหรือ ที่อยู่ในงานหรือในโรงมหรสพนั้นแสดงความเคารพตามระเบียบเครื่องแบบ หรือตามประเพณีนิยม
5. เมื่อได้เห็นผู้ใดไม่เสดงความเคารพในข้อ 1, 2, 3 และ 4 นั้น พึงช่วยกันตักเตือนชี้แจงให้เห็นความสำคัญแห่งการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

หลังจากผ่านการประกาศรัฐนิยมให้มีการเคารพธงชาติแล้ว รัฐบาลยังได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านวิทยุกระจายเสียง โดยผ่านทางรายการสนทนาระหว่างนายมั่น ชูชาติ กับนายคง รักไทย โดยในรายการสนทนาระหว่าง นายมั่น-นายคงนั้น ได้พูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับธงชาติ ความสำคัญของธงชาติ และการประดับธงชาติในวันสำคัญต่างๆ จนกระทั่งวันที่ 13 กันยายน 2485 ทางรายการก็เชิญชวนและนัดหมายกับประชาชนให้ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกันว่า เวลา 8.00 น. ให้ผู้ที่มีเครื่องรับวิทยุ โปรดเปิดดังๆ ให้ทุกคนได้ยินทั่วๆ กัน และชักชวนให้ทุกคนยืนตรงเคารพธงชาติ เป็นความหมายว่าเอกราชของไทยยังอยู่ยั่งยืนดี เฉกเช่นธงชาติไทยที่ชักขึ้นสู่ยอดเสาในทุกๆเช้าและเย็น
หลังจากที่ได้มีการยืนตรงเคารพธงชาติตามที่ได้นัดหมายไว้แล้ว นายมั่น-นายคง ได้กล่าวถึงความสำคัญของวันนี้ไว้ในรายการว่า "เมื่อเช้านี้เท่ากับเราได้เปิดฉากใหม่ของชีวิตชาติไทยอีกด้านหนึ่ง คือ การเคารพธงชาติ ซึ่งเป็นด้านสำคัญมาก เพราะเป็นการรวมจิตใจของคนทั้งชาติเข้าด้วยกัน รวมจิตใจของคนทั้งชาติ เข้าสู่ความเป็นเอกราชของชาติ และเกียรติอันสูงสุดของชาติที่รวมอยู่ที่ธงชาติไทย แม้การนี้จะได้นัดแนะกันล่วงหน้าไม่กี่วันก็ตาม แต่ได้ผลส่วนรวมเป็นที่น่ายินดีมาก เท่าที่ฉันได้ยินได้ฟังจากบุคคลที่อยู่ในสถานที่ต่างๆ กัน จะยังมีบกพร่องกันบ้างเล็กน้อยนั้น เข้าใจว่าคงเกิดจากยังไม่เข้าใจกันดี"
และการยืนเคารพธงชาติ ก็ได้ยึดถือปฏิบัตินับจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน

logoline