svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"วุฒิสาร"หนุนตั้งเวทีกลางพูดคุยหาทางออกประเทศร่วมกัน

12 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สถาบันพระปกเกล้า" แนะควรหาเวทีกลางเพื่อให้ทุกคนได้แสดงความเห็นและหาทางออกประเทศร่วมกัน ยันชุมนุม 19 ก.ย. เป็นสิ่งสามารถทำได้ตามสิทธิ์ แต่ต้องระวังอย่าให้เกิดการกระทบกระทั่ง

(12 กันยายน 2563) ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาว่า เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตามสิทธิ์ โดยไม่น่ามีอะไรต้องเป็นห่วง แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ ต้องไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ระหว่างความคิดของสองกลุ่ม จนเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง และนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ โดยเชื่อว่ารัฐบาลต้องใช้ความระมัดระวังในการกำหนดท่าทีด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ กลุ่มที่กำลังเคลื่อนไหวก็สามารถใช้กระบวนการทางรัฐสภา ในการคลี่คลายปัญหาต่างๆได้ เช่น จากการอภิปรายในหลายๆ เรื่อง ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในสภาฯ อย่างการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่มีการเรียกร้องเพิ่มเติม เช่น การให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก หรือการไม่เอารัฐประหาร อาจจะมีความเห็นที่หลากหลายนอกสภาฯ ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องใช้สติทำงานและแสดงความคิดเห็น เพื่อไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้น เนื่องจากเคยมีบทเรียนมาแล้ว

"ผมอยากเสนอให้มีกลไก ให้แต่ละกลุ่มได้แสดงความคิดเห็น เพื่อหาทางออกร่วมกันให้ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ การมีเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมพูดคุยกัน ว่าสิ่งใดสามารถแก้ได้ โดยใช้เวลาเท่าไหร่ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว"เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าว

ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีกลไกและกรอบเวลาที่ชัดเจนอยู่แล้ว อีกทั้ง เมื่อมีกระบวนการแก้ไข ก็ต้องมีการทำประชามติ โดยเฉพาะหากจะแก้ไขมาตรา 256 ต้องทำประชามติแน่นอน และก็ต้องใช้เวลา แต่หากแก้รายมาตราที่ไม่เกี่ยวข้องกับหมวด 1 หมวด 2 และหมวด 15 ก็สามารถแก้ได้ทันทีโดยรัฐสภา ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีบุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่ 4 กลุ่ม คือ ประชาชน พรรคเมือง รัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา ที่ต้องอาศัยการออกเสียง 84 เสียง ในวาระที่ 1 และ 3

อนึ่งสถาบันพระปกเกล้า ถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการผ่าทางตันทางการเมือง ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลของ "เนชั่นทีวี" พบว่า สถาบันพระปกกล้า มีสถานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในการกำกับดูแลของประธานรัฐสภา โดยมีพันธกิจเป็นสถาบันวิชาการด้านการพัฒนาประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสันติวิธี เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

นอกจากนี้ ศ.วุฒิสาร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้เคยจัดทำ "รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้า" ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน เมื่อปี 2555

ทว่า ผลวิจัยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากมีข้อเสนอบางส่วนที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย เช่น การนิรโทษกรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุทางการเมืองทุกประเภท ยกเลิกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ หรือ คตส. ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. แต่งตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร เมื่อปี 2549 เพื่อสอบสวนคดีทุจริตของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงข้อเสนอให้พูดคุยเจรจากับนายทักษิณด้วย โดยเป้าหมายที่แท้จริงของงานวิจัย คือ ลดเงื่อนไขความขัดแย้งทั้งหมด เพื่อสร้างบรรยากาศการปรองดอง และทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออกประเทศด้วยกัน

logoline