svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"วัคซีนโควิด-19" จุดปะทะใหม่ศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ

11 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ในตอนนี้ทั้งโดนัลด์ ทรัมป์และโจ ไบเดน ต่างก็งัดทุกไม้เด็ดมาต่อสู้เชือดเฉือนกันอย่างเข้มข้น โดยหนึ่งในประเด็นที่ทั้ง 2 คนนำมาใช้กล่าวโจมตีกันดุเดือดที่สุดก็คือเรื่อง "โควิด-19"

โควิด-19 เป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตชาวอเมริกันทุกคนทั้งทางตรงและทางอ้อม จนทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการลง "ประชามติ" ต่อการรับมือการระบาดของทรัมป์ ซึ่งถ้าวัดกันจริงๆ คงต้องบอกว่าทรัมป์ "ล้มเหลว" เห็นได้จากตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมในสหรัฐฯ ขณะนี้ทะลุ 6 ล้าน 5 แสนคน และเสียชีวิตแล้วกว่า 1 แสน 9 หมื่นคน โดยตัวเลขทั้งผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตทำสถิติสูงที่สุดในโลกมานาน 5-6 เดือนแล้ว และคาดการณ์ว่า ภายในวันเลือกตั้ง 3 พฤศจิกายน ผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิด-19 ในสหรัฐฯ อาจเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 แสน 5 หมื่นคน

"วัคซีนโควิด-19" จุดปะทะใหม่ศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ


จริงอยู่ที่ตอนนี้สถานการณ์การระบาดโดยรวมในสหรัฐฯ ดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ถ้าดูในระดับรัฐ ปรากฎว่าหลายรัฐผู้ติดเชื้อรายวันยังคงเป็นขาขึ้น ขณะเดียวกันแม้สถานการณ์ดีขึ้นจริง แต่เชื่อหรือไม่ว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ของสหรัฐฯ ยังอยู่ที่กว่า 2-3 หมื่นคนต่อวัน และยอดผู้เสียชีวิตบางวันยังอยู่ที่หลักพันคน
ในเรื่องโควิด-19 ทรัมป์ถูกโจมตีอย่างหนักว่า หากเขา "จริงจัง" กับการรับมือการระบาดมาตั้งแต่ต้น และ "จริงจัง" กับการรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย ยอดผู้ติดเชื้อคงน้อยกว่านี้นับล้านคน และอาจจะช่วยชีวิตคนได้นับแสนราย จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการสำรวจเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจะพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าไบเดนสามารถจัดการโควิด-19 ได้ "ดีกว่า" ทรัมป์ (53 ต่อ 41 เปอร์เซ็นต์ หรือทรัมป์เป็นรองคู่แข่งในเรื่องนี้ถึง 12 จุด) ขณะที่เรื่องเศรษฐกิจซึ่งทรัมป์เคยภาคภูมิใจ พอเจอพิษโควิด-19 เข้าไปก็ฝันสลาย ล่าสุดคะแนนในด้านเศรษฐกิจของทรัมป์จึงลดฮวบเหลือแค่ 49 เปอร์เซ็นต์ เฉือนไบเดนไปเพียงแค่จุดเดียว และตราบใดที่การระบาดยังคุมไม่อยู่ เศรษฐกิจก็คงไม่มีวันที่จะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่

"วัคซีนโควิด-19" จุดปะทะใหม่ศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ

ในเรื่องโควิด-19 "ความหวังเดียว" ที่ทรัมป์มองว่าสามารถช่วยให้เขากอบกู้สถานการณ์ขึ้นมาได้ ก็คือ "วัคซีน" โดยทรัมป์มักพูดอยู่เสมอว่าวัคซีนที่สหรัฐฯ กำลังพัฒนาอยู่มีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด และอาจพร้อมใช้งานตั้งแต่ก่อนถึงวันเลือกตั้งด้วยซ้ำ แถมเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ยังส่งจดหมายถึงผู้ว่าการรัฐทั่วประเทศ แจ้งให้เตรียมพร้อมแจกจ่ายวัคซีนตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ หรือ 2 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง
แต่สิ่งที่ทรัมป์พูดกลับสวนทางกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ที่มองว่า อย่างเร็วที่สุดวัคซีนที่ "ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัย" เสร็จสมบูรณ์แล้วคงพร้อมใช้งานภายในต้นปีหน้า ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามว่า หากทรัมป์ประกาศว่ามีวัคซีนพร้อมใช้งานก่อนเลือกตั้งจริง เราจะสามารถ "ไว้วางใจ" วัคซีนตัวนั้นได้มากแค่ไหน
ล่าสุดทั้งทรัมป์และไบเดนต่างก็ช่วงชิงเอาเรื่องวัคซีนโควิด-19 มาใช้โจมตีอีกฝ่าย โดยไบเดนบอกว่า จริงอยู่ที่สหรัฐฯ ต้องการวัคซีนโดยเร็วที่สุด แต่เขาเชื่อความเห็นของนักวิทยาศาสตร์มากกว่าทรัมป์ และยังตั้งข้อสังเกตถึง "ความโปร่งใส" ของโครงการวัคซีนของรัฐบาลทรัมป์ด้วย

"วัคซีนโควิด-19" จุดปะทะใหม่ศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ


"ผมต้องการความโปร่งใสในเรื่องวัคซีน หนึ่งในปัญหาของทรัมป์ คือ เขาชอบเล่นลิ้นทางการเมือง หลายสิ่งที่ทรัมป์พูดไม่เป็นความจริง ผมกังวลว่า แม้เราจะมีวัคซีนที่ดีเยี่ยม แต่ประชาชนอาจลังเลที่จะฉีด เพราะทรัมป์ได้ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน" ไบเดนกล่าว
ด้านทรัมป์กล่าวโจมตีด้วยการเรียกไบเดนว่า "คนโง่" และกล่าวหาว่าไบเดนต่างหากที่เป็นฝ่ายดึงเอาเรื่องวัคซีนมาเป็นประเด็นทางการเมือง และทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจวัคซีนของรัฐบาลสหรัฐฯ
"ไบเดนควรออกมาขอโทษทันทีต่อการพูดจาต่อต้านวัคซีนแบบไม่ระวัง เป็นอันตรายต่อชีวิตประชาชน และบั่นทอนหลักวิทยาศาสตร์ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ เรากำลังจะมีวัคซีนอันมหัศจรรย์ แต่ไบเดนกลับพูดปด ใช้วาทกรรมการเมือง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ" ทรัมป์ระบุ

นักวิทยาศาสตร์หลายคนบอกว่าสิ่งที่ "น่ากลัวที่สุด" สำหรับพวกเขาก็คือ กลัวว่า "แรงกดดัน" จากฝ่ายการเมืองจะเอาชนะ "ข้อเท็จจริง" ทางวิทยาศาสตร์ กลัวว่านักการเมืองจะมอง "ผลประโยชน์" ของตัวเองมากกว่า "ความปลอดภัย" ของประชาชน และหากวัคซีนที่อนุมัติ "ก่อนกำหนด" ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรและมีผลข้างเคียงร้ายแรงขึ้นมาอย่างที่เคยพบหลายครั้งในกระบวนการทดสอบ "เฟสที่ 3" ในประชากรวงกว้างหลายหมื่นคน แล้วแบบนี้ใครจะรับผิดชอบ และอาจทำให้คนทั่วไปเริ่ม "ไม่เชื่อใจ" วัคซีนใดใดก็ตามที่จะออกตามมาอีกในอนาคต

"วัคซีนโควิด-19" จุดปะทะใหม่ศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ


ด้วยเหตุนี้ บริษัทยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ และยุโรป 9 แห่งที่กำลังพัฒนาวัคซีนโควิด-19 อยู่ในตอนนี้ รวมทั้ง 3 เจ้าที่กำลังทดสอบ "เฟสสุดท้าย" ในสหรัฐฯ ได้แก่ แอสตราเซเนกา ไฟเซอร์ และโมเดิร์นนา จึงพยายามสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนด้วยการประกาศ "ให้คำมั่น" ร่วมกันว่า จะยึดมั่นในหลักการทางวิทยาศาสตร์และจรรยาบรรณวิชาชีพเพื่อทำให้วัคซีนปลอดภัยที่สุด
สุดท้ายแล้ววัคซีนโควิด-19 จะพร้อมให้คนทั่วโลกได้ฉีดกันเมื่อไหร่ ผู้ที่น่าจะให้คำตอบได้ดีที่สุดคงต้องเป็น "นักวิทยาศาสตร์" ไม่ใช่ "นักการเมือง"

"วัคซีนโควิด-19" จุดปะทะใหม่ศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ

logoline