svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ส.ส.บิลลี่" อัดรัฐบาลทำลายระบบการเมือง

10 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์" ยก "ทฤษฎีสมคบคิด" อัดรัฐบาลทำลายระบบการเมือง ชี้ต้องล้างไพ่องค์กรอิสระทั้งหมดก่อนที่จะเกิดความขัดแย้ง พร้อมถาม ส.ว.ตัดอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีจะเสียหายอะไร

(10 กันยายน 2563) นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กรุงเทพ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า วันนี้ยังมีเรื่องราวในวิกฤต นอกจากความเป็นภาวะผู้นำที่ประชาชนต้องการทราบผ่านสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงวิกฤติรัฐธรรมนูญ ตนจึงอยากจะชี้แจงผ่านสภาฯแห่งนี้ ซึ่งตลอดทั้งวันได้ฟังนายกรัฐมนตรีชี้แจง ก็มีหลายประเด็นที่ติดใจ โดยเฉพาะที่นายกมนตรีชี้แจงในทำนองมองเหมือนกับว่า ส.ส.หรือประชาชนมีอคติกับท่าน แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะสิ่งที่เวลาต้องพูดหรืออภิปรายต้องมาจากเหตุผล ต้องมาจากสิ่งที่เกิดขึ้น มาจากพยานหลักฐานพยานวัตถุ และข้อเท็จจริงใดที่ปรากฏ และสิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่ารักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชน อันนี้พูดง่าย แต่ทำอีกเรื่องหนึ่งนายจิรวัฒน์ กล่าวว่า การชุมนุมของนิสิตนักศึกษาที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าเขาไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลที่ผ่านมา การจัดซื้ออาวุธยุทธโธปกรณ์เพิ่มขึ้นเป็นระดับ การจัดเตรียมกำลังที่ใช้ในการรัฐประหารที่ผ่านมาก็มีให้เห็นปรากฏ สภากลาโหมวันนี้ถามว่าหากเป็นรัฐบาลชุดหน้า ใครเข้าไปมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บัญชาการทหารบกได้หรือไม่ หรือ กอ.รมน.วันนี้ที่มีแม่ทัพภาคเข้าไปนั่งคุมอยู่หัวโต๊ะ รวมถึงยังมีการออกกฏหมายในช่วงที่ผ่านมา คือ พระราชบัญญัติเปรียบเทียบหลักเกณฑ์ตำแหน่งที่ให้พลตำรวจตรี โท เอก เข้าไปเทียบตำแหน่งอธิบดีในหน่วยงานราชการ เพื่อนำไปสู่เส้นทางของการเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ระบบการเมืองไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาล"ท่านบอกว่าเป็นคนดี ท่านเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง ก็เรื่องของท่าน แต่ประชาชนเขาไม่เอาด้วย เป็นคนดีแล้วยังไง ถ้าระบบการเมืองประชาชนสมาชิกสภาไม่สามารถตรวจสอบผ่านระบบที่มีอยู่ได้ แล้วผมถามว่าจะมีเราไว้ทำไม การชุมนุมของกลุ่มนิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งก็เกิดจากวิกฤตการณ์ของผู้นำที่มีลักษณะความเป็นอำนาจนิยมอยู่ในหัวใจ ไม่ฟังประชาชน มีท่าทีขมึงขมัง คิดว่าตัวเองแน่ครับ ใหญ่ครับ เอาเถอะครับท่านเป็นนายก ต่อไปท่านลงจากนายกท่านก็เป็นประชาชนคนธรรมดา ลูกของท่านก็ยังต้องโตอยู่ในอนาคตครับ" นายจิรวัฒน์กล่าว

นายจิรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ระบบการเมืองที่พังทลาย คือการปล่อยให้พรรคการเมืองระดับสองสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แทนที่จะเป็นพรรคการเมืองระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นประเพณีในทางการเมืองที่เราปฏิบัติยึดกันมา ปล่อยให้มีรัฐบาลผสมที่ไม่มีเสถียรภาพตนก็เห็นใจ เพราะรัฐบาลเหนื่อยไม่มีเสียงในสภา แต่ก็ต้องใช้กลไกต่างๆที่อาจจะส่อไปในทางทุจริต ดังนั้นสิ่งที่ระบบการเมืองไม่สามารถตรวจสอบได้และพังทลาย ตนขอเรียกว่า "ทฤษฎีสมคบคิด" นี่แหละรัฐบาลสมคบคิด ตั้งแต่สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งตนไม่ได้ติดใจในเรื่องของความสามารถ เพราะทุกคนรับราชการกันมากกว่าจะเติบโตมาเป็นอธิบดีกว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ที่ติดใจคือที่มาที่ไม่ชอบธรรม เพราะมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทางอ้อม หมดงบประมาณแผ่นดินไปกว่า 1,000 กว่าล้าน และสุดท้ายวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่มีการเลือกนายกรัฐมนตรีก็ไม่เห็นมีใครงดออกเสียง ไม่เห็นมีใครโหวตไม่เห็นด้วย แล้ว ส.ว.ก็ทำขัดรัฐธรรมนูญ เพราะหลักของ ส.ว.คือต้องมีความเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้ของอาณัติของพรรคการเมืองใด แต่อภิปรายเสร็จ ก็โหวตเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เขานี่แหละอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ"การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อันนี้แหละคือความขัดแย้ง ทำไมพวกเราไม่ช่วยกันล่ะครับ อย่าปล่อยให้ประชาชนบอกว่าสภาแก้ไขไม่ได้ อย่าปล่อยให้ประชาชนบอกว่าต่อไปนี้ไม่พึ่งระบบการเมืองแล้ว จะไปเพิ่งระบบม็อบ ไม่ได้ครับ เราต้องนำระบบการเมืองสร้างความศรัทธาให้กับประชาชนผมถามว่าวันนี้ถ้า ส.ว.ยอมตัดอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว.จะเสียหายอะไร" นายจิรวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ นายจิรวัฒน์ กล่าวต่อว่า โดยหลักทั่วไปในการบัญญัติให้อำนาจของ ส.ว. ต้องดูหลักพื้นฐานในฐานอำนาจยึดโยงประชาชนหรือไม่ ถ้ามาจากการแต่งตั้งไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน แต่กลับมีอำนาจพิเศษแต่งตั้งถอดถอน ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ เลือกนายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญ ติดตามการปฏิรูปประเทศ สุดท้ายการเมืองถึงทางตัน ดังนั้นประเด็นที่จะเกิดความขัดแย้งขึ้นในอนาคต คือองค์กรอิสระ เพราะที่ผ่านมาองค์กรอิสระผ่านความเห็นชอบของสมาชิกสภานิติบัญญัติ และศาลรัฐธรรมนูญที่มีการแต่งตั้งล่าสุดก็มีการแต่งตั้งจากสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ และนี่จะเป็นความขัดแย้งในอนาคตถ้าไม่มีการล้างไพ่องค์กรอิสระทั้งหมด เพราะมีที่มาไม่ชอบ สุดท้ายขอยืนยันว่ารัฐธรรมนูญต้องแก้ไข จะบอกว่ารัฐธรรมนูญดีอย่างไรก็แล้วแต่ จะผ่านมาอย่างไรก็แล้วแต่ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติที่ประชาชนไม่รู้รัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้ฟังข้อมูลอย่างครบถ้วนทุกมิติ และยังเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติมติที่ประชาชนถูกจับมากที่สุด200กว่าคนอย่างไรก็ตาม นายจิรวัฒน์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในปลายเดือนกันยายนนี้ ไม่ใช่ผลงานรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนต้องเสียหยาดเหงื่อออกมาออกมาชุมนุม เสียสตางค์ เสียเวลาออกมาเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำในสิ่งที่ตัวเองควรต้องทำแต่ไม่ทำ และหวังว่านายกรัฐมนตรีจะต้องหาทางออกให้กับประเทศและเสียสละเหมือนที่ท่านเป็นทหาร

logoline