svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พ.ต.อ.ทวี"สอนรัฐหัดฟังนักศึกษา - ดับไฟใต้ต้องบูรณาการช่วยคน

08 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เลขาธิการพรรคประชาชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ลั่นพร้อมทำหน้าที่แทนประชาชนในสภา หลังได้เป็นว่าที่ ส.ส.ป้ายแดง เลื่อนขึ้นเป็นผู้แทนปาร์ตี้ลิสต์แทน "วันนอร์" ที่ประกาศลาออก เรียกร้องทุกฝ่ายรับฟังเสียงนักศึกษา พร้อมใช้เป็นพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง ขณะที่แนวทางดับไฟใต้ รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงต้องเลิกบูรณาการเฉพาะงบประมาณ แต่ต้องบูรณาการคลายทุกข์ให้ประชาชน

ภายหลัง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้ประกาศลาออกจาก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ ทำให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เตรียมเลื่อนลำดับขึ้นเป็น ส.ส.แทน จากสถานะการเป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 2 ของพรรค
พ.ต.อ.ทวี กล่าวกับ "เนชั่นทีวี" ถึงสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ว่า ต้องยอมรับว่าวันนี้ประเทศเราประสบปัญหาค่อนข้างมาก และปัญหาหนึ่งคือปัญหาประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในรัฐบาล และรัฐบาลมีความชอบธรรมน้อย การใช้อำนาจถ้าไม่ถูกต้องอาจจะทำให้เสื่อม ยิ่งใช้อำนาจเบ็ดเสร็จมาก ยิ่งเสื่อมมาก เราก็จะเห็นว่าวันนี้มีกระแสที่ไม่ยอมรับทั้งในสภาและนอกสภา บทบาทของพรรคฝ่ายค้านโดยเราเป็นตัวแทนให้ประชาชน เราก็ต้องสะท้อนว่าสิ่งที่รัฐบาลประกาศนโยบายไว้ว่าจะทำให้ประชาชนนั้น จริงๆ ได้ทำหรือไม่ ถ้าเขาไม่ทำ เราก็ต้องไปบอกให้รัฐบาลทำ
ความอยู่รอดของพี่น้องประชาชนย่อมสำคัญกว่าความอยู่รอดของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลอยู่รอดแต่ประชาชนเกิดความลำบากและเห็นความแตกต่างได้ชัด อันนี้ก็เป็นเรื่องที่พวกเราต้องทำหน้าที่ทั้งในและนอกสภา ต้องบอกรัฐบาล และที่สำคัญขณะนี้มีเรื่องเฉพาะหน้าเกิดขึ้น ก็คือเราจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ

ส่วนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะที่พรรคประชาชาติได้รับความไว้วางใจมากที่สุดเหนือกว่าทุกพรรค (ได้ ส.ส. 6 คนจาก 11 คน) นั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในภาคใต้ก็มีปัญหาหนักอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่านอกจากกฎหมายพิเศษในเรื่องความมั่นคงแล้ว เรายังมีกฎหมายพิเศษในเรื่องการพัฒนา แต่ยิ่งพัฒนาไป คุณภาพชีวิตของพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับถอยลงๆ วันนี้ถ้าเอาปัญหาของประชาชนเป็นที่ตั้ง บทบาทของสภาก็ต้องทำหน้าที่ให้เยอะขึ้น
ยกตัวอย่างง่ายๆ จังหวัดต่างๆ ก็มีกฎหมายทั่วไป แต่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราก็จะมีกฎหมาย ศอ.บต. (พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) เจตนารมณ์ของ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) คือบูรณาการงานของทุกหน่วยมาอยู่ด้วยกันเพื่อความเป็นเอกภาพ แต่จู่ๆ รัฐบาลก็มีแผนบูรณาการมาบูรณาการซ้อน ศอ.บต.อีก
คือสิ่งที่รัฐบาลบูรณาการ ไม่ได้บูรณาการความทุกข์ของประชาชน แต่ไปบูรณาการเงิน ไม่ได้บูรณาการความลำบาก พอมีกฎหมายบูรณาการก็มีกฎหมาย กอ.รมน.เรื่องความมั่นคงอีก (หมายถึงพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) ไปเขียนบูรณาการขึ้นมาอีก และยังมีเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคใต้มาอีก แล้วก็จะมีเขตอะไรต่างๆ ซึ่งอันนี้มันเป็นความซ้ำซ้อนและขาดเอกภาพในการแก้ปัญหา
ที่สำคัญก็คือคนที่รู้ปัญหาจริงคือท้องถิ่น คือองค์กรปกครองท้องถิ่น แต่กลับไม่ได้รับการดูแล ที่ผ่านมาทุกคนอาจไม่ค่อยไว้ใจองค์กรท้องถิ่น แต่เขาอยู่กับชาวบ้าน เขาจะรู้เลยว่าปัญหาของหมู่บ้านเป็นอย่างไร แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ส่งเสริมสนับสนุน คิดว่าในบทบาทการทำงานในสภา ถ้าเราหาจุดสำคัญให้เจอ ก็คือเรื่องส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก็จะผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ สิ่งแรกก็หนีไม่พ้นต้องกระจายงบประมาณและกระจายอำนาจ

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรามีองค์กรต่างๆ เยอะมาก แต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ทำไมไม่ส่งให้ท้องถิ่นดูแล เช่น ในเรื่องการศึกษาพื้นฐาน เรื่องสาธารณสุข เรื่องผู้สูงอายุ เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน อันนี้คือตัวอย่าง เราจะต้องทำให้ประชาชนได้รับรู้ความจริง และประชาชนต้องลุกขึ้นมา เราจะต้องทำให้ประชาธิปไตยไม่ได้อยู่แค่กระดาษสวยงาม แต่ต้องทำให้ประชาธิปไตยอยู่ในพื้นที่ อยู่ใกล้ประชาชน ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง ต้องมีความเสมอภาค ไม่ต้องมาสงสาร ขอให้มีโอกาสเท่ากัน
พ.ต.อ.ทวี ยังยกตัวอย่างการทำงานของหน่วยงานความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า กอ.รมน.มีงบข่าวหลายร้อยล้าน แล้วก็ไปเอาข่าวที่ไปจ้างชาวบ้านตามหมู่บ้าน บางทีอาจจะทำให้คนแตกแยกกันก็ได้ และเนื่องจากหน่วยงานด้านการข่าวไม่มีกำลังพล ก็ไปใช้ทหาร ขณะที่ทหารก็มีเงินเดือนอยู่แล้ว ก็เอาไปทบให้ทหารอีก ซึ่งงานของทหารคืองานการข่าวอยู่แล้ว เอาเงินไปให้ตำรวจ ตำรวจก็ทำหน้าที่การข่าวอยูู่แล้ว ถ้าเรามาตั้งหลักให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไปดูว่าคุณภาพชีวิตของหมู่บ้านต่างๆ เป็นอย่างไร ชาวบ้านน่าจะได้ประโยชน์กว่า และเจ้าหน้าที่ก็จะได้ข่าวด้วย เพราะเข้าไปในพื้นที่
เมื่อถามถึงการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประเด็นต่างๆ นั้น เลขาธิการพรรคประชาชาติ มองว่า นักศึกษาออกมาสู้เพื่ออนาคต เนื่องจากมองไม่เห็นอนาคตจากการบริหารของรัฐบาลปัจจุบัน เราจะเห็นว่านักศึกษานั้น วิธีคิดเขาอาจจะต่างกันกับเรา เช่น คนรุ่นเก่าๆ อาจจะมองยศว่ามีความเป็นใหญ่ แต่นักศึกษาไปมองที่เรื่องความรู้และศักยภาพ คือวันนี้เราอย่าไปด้วยค่าความเป็นนักศึกษา ถ้าเราเห็นว่าเขาเสมอภาค เราต้องไปดูข้อเรียกร้องของเขาว่าถูกต้องไหม
ส่วนตัวถือว่าเป็นประชาธิปไตย และเป็นสิ่งที่ควรจะฟัง ข้อเสนอของนักศึกษาหลายๆ ข้อ นักการเมืองยังตามไม่ทัน เพราะเขาศึกษาจริง และเขารู้ชะตากรรมของเขา ถ้าเขาอยู่ในสังคมลักษณะนี้ต่อไป เขาไม่มีอนาคต

logoline