svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดอีก 4 คดี "เหมืองทองอัครา" ที่(ฝ่ายค้าน)ไม่ยอมพูดถึง

03 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คดีเหมืองทองอัครา หรือ "เหมืองทองชาตรี" ที่กลายเป็นประเด็นทางการเมืองร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ ฝ่ายที่ออกมากล่าวหารัฐบาล โดยเฉพาะ "นายกฯลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดเฉพาะคดีที่ บริษัท คิงส์เกตฯ ฟ้องรัฐบาลไทยในอนุญาโตตุลาการโลกเพียงด้านเดียว โดยอ้างว่ามีโอกาสที่ไทยจะแพ้คดี และต้องจ่ายค่าโง่ 30,000 ล้านบาท ขณะที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการผลิตข่าวปลอม อ้างว่าไทยแพ้คดีแล้ว ต้องจ่ายค่าโง่นับแสนล้าน ทั้งที่ไม่เป็นความจริง หนำซ้ำยังมีคดีความที่ไม่ถูกพูดถึงอีกหลายคดี และทั้งหมดล้วนทำให้ไทยได้เปรียบบริษัทข้ามชาติในเวทีอนุญาโตตุลาการด้วย

ข้อพิพาทเกี่ยวกับเหมืองทองอัครา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์นั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งระงับกระบวนการผลิต และการต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งส่งผลโดยตรงกับเหมืองทองชาตรีของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 โดยให้เหตุผลเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน
บริษัท อัครา รีซอร์สเซสฯ มี บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด สัญชาติออสเตรเลีย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงมีการนำข้อพิพาทไปฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการโลก ทั้งๆ ที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา ไม่ได้มีคำสั่งให้ปิดเหมือง หรือยึดสัมปทานคืน แต่เป็นการสั่งให้ระงับกระบวนการผลิต และการต่ออายุประทานบัตรเอาไว้ก่อน เพื่อให้แก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูสุขภาพของชุมชน พร้อมเปิดช่องทางให้มีการเจรจาได้ตลอดเวลา
บริษัท คิงส์เกตฯ ใช้สิทธิ์ตามข้อตกลง "ทาฟตา" (TAFTA) หรือ ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการโลก พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายให้บริษัท เป็นจำนวนเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าคำสั่งปิดเหมืองทองชาตรีละเมิดข้อตกลงทาฟตา


เรื่องนี้ยืดเยื้อมาหลายปี กระทั่งมากลายเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อฝ่ายค้านพบข้อมูลว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอของบประมาณในปี 2564 เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการต่อสู้คดีกับ บริษัท คิงส์เกตฯ กว่า 111 ล้านบาท ทำให้มีการเสนอตัดงบประมาณเหลือแค่ 12 ล้านบาท พร้อมเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ รับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ออกคำสั่งระงับการกระบวนการผลิต และการต่ออายุประทานบัตร
จริงๆ แล้วคดีที่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการโลกนั้น เป็นเพียงส่วนเดียวของข้อพิพาทเรื่องเหมืองทองอัครา เพราะจริงๆ แล้วยังมีคดีอื่นๆ อีกอย่างน้อย 4 คดีใหญ่ๆ ซึ่งทำให้มองเห็นถึงความซับซ้อนและที่มาที่ไปอันยาวนานของปัญหานี้
เริ่มจาก คดีในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กรณีเหมืองทองอัคราถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ และ พระราชบัญญัติทางหลวง เนื่องจากเข้าครอบครองพื้นที่ป่า และรุกล้ำเขตทางหลวง เพื่อประโยชน์ในการทำเหมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีในส่วนนี้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ โดยผ่านขั้นตอนของดีเอสไป และอัยการแล้ว พื้นที่ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ครอบคลุมทั้งจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และลุกลามไปที่จังหวัดสระบุรี


คดีต่อมา เป็นคดีสินบนข้ามชาติที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำลังไต่สวนอยู่ หลังพบหลักฐานพิสูจน์ข้อกล่าวหาเรื่องการจ่ายสินบนจากบริษัทที่จะทะเบียนในตลาดหลักทารัพย์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในไทย โดยเกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกเรื่องสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ คดีนี้ผู้ที่ถูกกล่าวหามีทั้งข้าราชการประจำ และฝ่ายการเมืองระดับรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่ปัจจุบันทำหน้าที่ฝ่ายค้าน
นอกจากนั้น ยังมีคดีที่เครือข่ายภาคประชาชน 5 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองอัครา ยื่นหลักฐานให้เอาผิด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และะนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่สั่งปิดเหมืองทองอัครา และบริษัทอัครา รีซอร์สเซสฯ หรือ บริษัทอัครา ไมนิ่งฯ ทั้งๆ ที่กระทำความผิดต่อทรัพยากรของประเทศไทย
ขณะเดียวกันยังมีคดีที่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซสฯ ฟ้องประชาชนและแกนนำชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองทอง แต่ฝ่ายชาวบ้านชนะคดี และฟ้องกลับบริษัทฯอยู่ในปัจจุบัน

logoline