svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"วิษณุ"สั่งรื้อคดีอาญามอบดีเอสไอดำเนินการคดี"บอส"

03 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"วิษณุ เครืองาม" เผยขั้นตอนคดี "บอส อยู่วิทยา" ป.ป.ท.จะส่งบุคคลเกี่ยวข้อง 8 กลุ่มให้หน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบเอาผิด ส่วนใดเป็นคดีอาญาชงดีเอสไอดำเนินการ โยนกฤษฎีกาเขียนคู่มือข้อควรปฏิบัติการมอบอำนาจให้ชัดเจน พร้อมรื้อกฎหมายผู้ต้องหาหนีคดีไม่มีอายุความ

(3 กันยายน 2563) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการคดีนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา หลังรับไม้ต่อจากคณะกรรมการตรวจสอบชุดนายวิชา มหาคุณ ว่า เมื่อวานนี้ (2ก.ย.) ได้หารือกับคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. และคณะทำงานชุดนายวิชา โดยได้แบ่งงานเพื่อไปดำเนินการตามข้อเสนอเร่งด่วน 5 ข้อ

ทั้งนี้ เช่น การรื้อคดีใหม่ที่ยังไม่ขาดอายุความ โดยเฉพาะคดีเสพยาเสพติดแล้วขับรถ ซึ่งเป็นข้อหาใหม่ ให้ป.ป.ท.ทำเรื่องส่งให้ตำรวจ และส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8 กลุ่ม ทั้งตำรวจ อัยการ ทนายความ และนักการเมือง ดำเนินการเอาผิด ทั้งทางวินัยและอาญา ส่วนบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ป.ป.ท.จะเป็นผู้ตรวจสอบเอง และเรื่องใดที่มีมูล จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ตรวจสอบต่อ ส่วนเรื่องใดที่เป็นคดีอาญา จะส่งให้ดีเอสไอพิจารณาเป็นคดีพิเศษ ซึ่งวันนี้ (3ก.ย.) คณะกรรมการ ป.ป.ท. ทำหนังสือแจ้งต่อศาลไปยังหน่วยงาน

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเรื่องการรับผิดและความรับผิดชอบซึ่งเกี่ยวพันกับนักการเมืองในคณะกรรมาธิการ ซึ่งบางคนไม่เกี่ยวข้อง จะส่งเรื่องให้ประธานรัฐสภา พิจารณาว่าอะไรดำเนินการได้ หรือไม่ได้ รวมถึงเรื่องการมอบอำนาจที่ได้บทเรียนจากคดีบอส แม้จะมอบอำนาจไปแล้ว แต่ยังต้องมีความรับผิดชอบอยู่ เพราะไม่ใช่การมอบอำนาจขาด เป็นเพียงการมอบให้ไปทำ แต่ผู้มอบอำนาจยังต้องติดตาม สอดส่องดูแล กำกับ หากผิดต้องเรียกมาสั่งใหม่ได้ ไม่ใช่มอบแล้วตัดอำนาจขาด ซึ่งเรื่องนี้เป็นบทเรียนจากหลายคดีในอดีต จึงจะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเขียนคู่มือการมอบอำนาจจะต้องปฏิบัติอย่างไร ทั้งผู้มอบและผู้รับ

ขณะเดียวกัน ะปรับปรุงแก้ไขระเบียบบางอย่าง เช่น ไม่ใช่อัยการรับเรื่องร้องเรียนและสั่งฟ้องในคนเดียวกัน เนื่องจากไม่มีการคานอำนาจ แม้จะเป็นดุลยพินิจ เพราะอัยการเป็นองค์กรอิสระ ส่วนตำรวจที่จะแย้งหรือไม่แย้งคดี จะต้องมีเหตุผล และเรื่องอายุความที่ผู้ต้องหาหลบหนีจะต้องแก้ไขให้อายุความนั้นไม่สิ้นสุด ซึ่งการแก้ระเบียบกฎหมายจะต้องส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไปศึกษา ซึ่งเมื่อหน่วยงานตอบกลับแล้วให้ ป.ป.ท. ติดตามเพื่อรายงานนายกรัฐมนตรี อะไรที่สามารถแก้ระเบียบได้ทันทีก็ดำเนินการแก้ แต่เรื่องใดที่ต้องแก้ในเชิงยกเครื่องปฏิรูป จะต้องมีการยกร่างแก้ไข ซึ่งจะเสนอต่อที่ประชุมสภาฯสมัยหน้าในเดือนพฤศจิกายน

นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า การทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีทั้งกำหนดกรอบเวลา เช่น สอบบุคคล 8 กลุ่ม เพราะจะมีปัญหาเรื่องการขาดอายุความ และไม่กำหนดกรอบเวลา ซึ่งการแก้กฎหมายจะไม่ครอบคลุมการดำเนินการในคดีบอส แต่จะครอบคลุมคดีในอนาคต ซึ่งทั้ง 8 กลุ่มนั้น ไม่ทราบว่าจะหมดอายุความเมื่อใด เนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นความผิดทางอาญาหรือวินัย เนื่องจากแต่ละคดีมีกำหนดระยะเวลาที่ต่างกัน และบางคนอาจผิดตามมาตรา 157 แต่ถ้าเป็นคดีทุจริตเรียกรับเงิน ต้องส่งเรื่องใช้ ป.ป.ช. ไม่มีอายุความ

ส่วนข้อเสนอนักวิชาการให้ยกเลิกคำสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร นาคสุข รองอัยการเจ้าของคดี ณ ขณะนั้น เพราะหากฟ้องคดีใหม่ เมื่อถึงชั้นศาลจะยกฟ้องนั้น ส่วนตัวไม่ตอบในประเด็นดังกล่าว และไม่กล้าระบุ เพราะข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนายวิชาไม่ได้เสนอ และตนนั้นไม่เคยอ่านสำนวน โดยจะต้องให้คณะกรรมการอัยการพิจารณา

logoline