svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

มหาดไทยชงกฎหมายใหม่ ถอดถอน อปท.

02 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มหาดไทยเพิ่มอำนาจชาวบ้านรากหญ้า เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นง่ายขึ้น พร้อมยื่นดาบให้ฟัน อปท.ทุจริต ประพฤติเสื่อมเสีย รวบรวมเสียงประชาชนแค่ 1 ใน 5 ของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ชงสอบสวนเอาผิดได้ทันที

เมื่อวันอังคารที่ 1 ก.ย.63 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่สำคัญต่อการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 2 ฉบับด้วยกัน คือ ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ.... และ ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ....
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลงานปกครองท้องถิ่น กล่าวในรายการ "เก็บตกจากเนชั่นภาคเที่ยง" ว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นการปรับปรุงเนื้อหาจากกฎหมายฉบับเดิม เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้าชื่อกันได้สะดวกและเหมาะสมกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น โดยร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เมื่อผ่านคณะรัฐมนตรี ก็จะนำไปสู่การบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นฯ คือการพยายามลดความซับซ้อนและภาระของพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด ด้วยการลดจำนวนผู้มีสิทธิ์เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น เหลือไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใน อปท.นั้น จากเดิมที่กำหนดไว้ ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน อปท.
ขณะเดียวกัน ผู้มีสิทธิ์เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นจำนวนไม่เกิน 10 คน สามารถร้องขอให้ อปท.จัดทำร่างข้อบัญญัติ หรือเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเข้าชื่อได้ จากเดิมที่ผู้เสนอ ต้องยกร่างข้อบัญญัติเอง และเชิญชวนประชาชนเอง
ที่สำคัญ หากมีการยื่นเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นแล้ว เกิดมีการยุบสภาท้องถิ่น ตามกฎหมายเก่าให้ร่างข้อบัญญัตินั้นตกไป แต่ร่างกฎหมายใหม่ กำหนดให้เมื่อมีการเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นใหม่แล้ว ภายใน 120 วัน ถ้าผู้เข้าชื่อยืนยันเสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น ก็ให้สภาท้องถิ่นรับไปพิจารณา ไม่ให้ร่างนั้นตกไปโดยอัตโนมัติเหมือนในอดีต โดยร่างข้อบัญญัติที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอได้ ครอบคลุมข้อบัญญัติทุกประเภท ยกเว้นข้อบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน

ส่วนสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ ได้ปรับปรุงวิธีการเข้าชื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 254 เพื่อความสะดวก และประหยัดงบประมาณ ได้แก่
1. กำหนดวิธีการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ไว้ 2 กรณี คือ
- กรณีแรก การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกฯ ผู้มีสิทธิ์ต้องเข้าชื่อรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
- กรณีที่ 2 การเข้าชื่อขอให้มีการสอบสวนเพื่อถอดถอนสมาชิกฯ ผู้มีสิทธิ์ต้องเข้าชื่อรวมกันไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แล้วแต่จำนวนใดน้อยกว่า จากนั้นให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามที่กฎกระทรวงกำหนด
2. กำหนดพฤติการณ์ของสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ที่เป็นเหตุให้ถูกเข้าชื่อเพื่อถอดถอนจากตำแหน่ง เช่น มีความประพฤติที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือก่อความไม่สงบเรียบร้อย ส่อทุจริต
นายนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า ร่างกฎหมายยังมีมาตรการป้องกันการกลั่นแกล้งกันในทางการเมือง ด้วยการกำหนดฐานความผิดของผู้ปลอมลายมือชื่อ ตลอดจนผู้ที่ให้หรือรับเงิน ทรัพย์สิน เพื่อให้เข้าชื่อ หรือไม่ให้เข้าชื่อเพื่อถอดถอน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลาตั้งแต่ 10-20 ปี

สำหรับนิยามของ อปท. หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น รมช.มหาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมี 5 ประเภท คือ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องคืการบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล โดยกฎหมายเปิดให้ครอบคลุมถึงองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจมีในอนาคตด้วย
เมื่อถามถึงการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งห่างหายไปนานกว่า 6 ปี นายนิพนธ์ กล่าวว่า ภายในเดือน ต.ค.นี้จะมีการประกาศขั้นตอนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น จากนั้นในเดือน ธ.ค.คงได้เห็นการเลือกตั้่งท้องถิ่นบางรูปแบบ

logoline