svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ประเด็นต่อประเด็น! เทียบร่างแก้รธน. "รัฐบาล-ฝ่ายค้าน"

02 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดโฉมออกมาคร่าวๆ แล้วสำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีทั้งร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งไม่รวมพรรคก้าวไกล กับร่างของรัฐบาล ความเหมือนและความต่างของทั้งสองร่างเป็นอย่างไร "เนชั่นทีวี" มีรายละเอียดมาฝาก

แน่นอนว่าทั้ง 2 ร่าง มีความเหมือนกันก็คือ ทั้งร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้าน มุ่งแก้มาตรา 256 เพื่อปลดล็อกให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมปรับปรุงเนื้อหามาตรา 256 ใหม่ให้กระบวนการแก้ไขง่ายขึ้น และเพิ่มหมวดให้มี ส.ส.ร. หรือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ


เฉพาะขั้นตอนนี้ จะผ่านได้ ต้องอาศัยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 376 เสียงขึ้นไป และวาระ 1 กับวาระ 3 ต้องมีเสียง ส.ว.อย่างน้อย 84 เสียง รวมทั้งต้องทำประชามติด้วย


ส่วนความต่าง อยู่ในรายละเอียดของ ส.ส.ร. หรือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยร่างของรัฐบาลมีองค์ประกอบมากกว่า นอกจาก ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละจังหวัด 150 คนแล้ว ยังมีสัดส่วนอีก 20 คน ให้สมาชิกรัฐสภาเลือกทางอ้อม, อีก 10 คนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เลือกผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน กุับสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์, อีก 10 คน ที่ประชุมอธิการบดีฯ เลือกจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ และอีก 10 คนสุดท้ายมาจากตัวแทนนิสิต นักศึกษา รวมเป็น ส.ส.ร.ทั้งหมด 200 คน

ประเด็นต่อประเด็น! เทียบร่างแก้รธน. "รัฐบาล-ฝ่ายค้าน"



เมื่อได้ ส.ส.ร.แล้ว ก็ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยออกไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ใช้เวลา 240 วัน โดยห้ามแตะหมวด 1 หมวด 2 ว่าด้วย บททั่วไป และสถาบันพระมหากษัตริย์


เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้ส่งร่างไปยังรัฐสภาเพื่อลงมติ โดยใช้เสียงข้างมาก หากผ่าน ก็เดินหน้าบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป แต่ถ้าไม่ผ่าน ก็ส่งร่างรัฐธรรมนูญไปทำประชามติ โดยผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ต้องเกิน 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมดด้วย


ขณะที่ร่างของฝ่ายค้าน ให้มี ส.ส.ร. 200 คนเหมือนกัน แต่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แล้ว ส.ส.ร.ไปตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา 45 คน มี 30 คนมาจาก ส.ส.ร. และอีก 15 คน มาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ 3 สาขา (กฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์-รัฐประศาสนศาสตร์ และผู้มีประสบการณ์เรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน) สาขาละ 5 คน

ประเด็นต่อประเด็น! เทียบร่างแก้รธน. "รัฐบาล-ฝ่ายค้าน"



จากนั้นคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มีเวลา 120 วัน ห้ามแตะหมวด 1 และ 2 เช่นกัน เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จึงส่งไปทำประชามติ ใช้เวลาเตรียมการอีกอย่างน้อย 60 วัน จึงมีการลงประชามติ หากร่างรัฐธรรนมูญผ่านประชามติ ก็จะมีผลบังคับใช้ เดินหน้ายุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่


ทั้ง 2 ร่าง 2 แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ จะกินเวลาอยู่ที่ราวๆ 1 ปีเศษ ถึง 1 ปีครึ่ง (14-18 เดือน) หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย ทั้งนี้นับเฉพาะกระบวนการตั้งแต่มี ส.ส.ร.แล้ว ยังไม่นับกระบวนการก่อนมี ส.ส.ร. คือการแก้มาตรา 256 ที่คาดว่าจะใช้เวลาราวๆ 5-6 เดือน คาดว่าประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ และจัดการเลือกตั้งใหม่ตามกติกาประเทศใหม่ในอีกราวๆ 2 ปีข้างหน้าเป็นอย่างเร็ว

logoline