svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ผู้ท้าชิงรอง ปธน.สหรัฐฯ เจอกระแส "ทฤษฎีสมคบคิด" โจมตี

22 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ปราศจากการตรวจสอบ ทั้งในรูปแบบของข่าวเท็จหรือ "เฟคนิวส์" และในรูปแบบของ "ทฤษฎีสมคบคิด" เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ตอนนี้ ซึ่งบ่อยครั้งผู้ที่มักตกเป็นเหยื่อก็คือ นักการเมืองและบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม โดยเหยื่อทฤษฎีสมคบคิดรายล่าสุดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นั่นคือ "กมลา แฮร์ริส" ผู้ที่เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เป็นผู้หญิงเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันและเอเชีย

ถ้ายังจำกันได้ ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามาก็คือ เรื่องสถานที่เกิดของเขา โดยมีกระแสว่าเขาไม่ได้เกิดในสหรัฐฯ แต่เกิดในเคนยา จึงไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ได้ จนสุดท้ายโอบามาต้องเอาสูติบัตรออกมายืนยัน แต่ก็ไม่สามารถลบล้างความเชื่อของคนจำนวนมากได้

ผู้ท้าชิงรอง ปธน.สหรัฐฯ เจอกระแส "ทฤษฎีสมคบคิด" โจมตี


กมลา แฮร์ริสก็เช่นกัน เธอนั้นถูกโจมตีด้วยข้อกล่าวหาเดียวกับโอบามา เนื่องจากเธอนั้นมีพ่อแม่เป็นผู้อพยพทั้งคู่ โดยพ่อของเธอมาจากจาไมกา ส่วนแม่ของเธอมาจากอินเดีย แต่จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า แฮร์ริสเกิดที่เมืองโอคแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย

ผู้ท้าชิงรอง ปธน.สหรัฐฯ เจอกระแส "ทฤษฎีสมคบคิด" โจมตี


จริงๆ กระแสข่าวลือนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 แล้ว หลังแฮร์ริสชนะเลือกตั้งได้เป็นวุฒิสมาชิกรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่นับตั้งแต่โจ ไบเดน เลือกเธอเป็นคู่ท้าชิง การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เกิดของแฮร์ริสก็พุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวว่า เขาเองก็ได้ยินกระแสข่าวนี้มาเหมือนกัน และหากเป็นความจริงก็จะถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ทรัมป์ก็เป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีโหมกระพือทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับโอบามา

ผู้ท้าชิงรอง ปธน.สหรัฐฯ เจอกระแส "ทฤษฎีสมคบคิด" โจมตี

กระแสทฤษฎีสมคบคิดต่อมาก็คือ มีผู้จับผิดพาดหัวข่าวของสำนักข่าวเอพีว่า ในอดีตแฮร์ริสถูกมองในฐานะ "ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย" แต่ทำไมตอนนี้สื่อถึงเรียกแฮร์ริสว่าเป็น "คนผิวสีที่มีเชื้อสายแอฟริกันอเมริกัน" แต่ในความเป็นจริง สื่อได้รายงานข่าวเกี่ยวกับเธอโดยระบุถึงทั้งสองเชื้อชาติของพ่อและแม่แฮร์ริสมาโดยตลอด ขึ้นอยู่กับว่าจะเน้นไปที่เชื้อชาติไหน นั่นก็หมายความว่า ผู้ที่สร้างกระแสจงใจเลือกพาดหัวข่าวที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด นอกจากนี้ในหนังสืออัตชีวประวัติ แฮร์ริสก็เขียนไว้ชัดเจนว่า แม่ของเธอมองลูกๆ เป็น "ผู้หญิงผิวดำ"

ผู้ท้าชิงรอง ปธน.สหรัฐฯ เจอกระแส "ทฤษฎีสมคบคิด" โจมตี


ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2559 มีทฤษฎีสมคบคิดชื่อว่า "พิซซ่าเกท" เกิดขึ้น โดยมีกระแสข่าวว่า ฮิลลารี คลินตัน และบรรดาสมาชิกอาวุโสพรรคเดโมแครตได้แอบตั้งเครือข่ายล่วงละเมิดทางเพศเด็กแบบลับๆ ขึ้นที่ชั้นใต้ดินของร้านพิซซ่าในกรุงวอชิงตันดีซี ปรากฏว่าล่าสุด มีการเผยแพร่อีเมลที่อ้างว่าหลุดมาจากการแฮกระบบฐานข้อมูลพรรคเดโมแครตเมื่อ 4 ปีก่อน ระบุเนื้อหาว่า มายา แฮร์ริส น้องสาวของกมลาซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานหาเสียงของฮิลลารีในขณะนั้นได้รับเชิญไปร่วมงาน "ปาร์ตี้พิซซ่า" จนมีผู้ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์นำมา "จับแพะชนแกะ"

ผู้ท้าชิงรอง ปธน.สหรัฐฯ เจอกระแส "ทฤษฎีสมคบคิด" โจมตี

หนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดที่แพร่หลายที่สุดในโลกก็คือ ความเชื่อที่ว่า "จอร์จ โซรอส" มหาเศรษฐีนักลงทุนเจ้าของฉายา "พ่อมดการเงิน" อยู่เบื้องหลังนักการเมืองดังทั่วโลก จริงอยู่ที่โซรอสเป็นผู้บริจาครายใหญ่ของพรรคเดโมแครต และลูกชายของโซรอสก็ทวีตแสดงความยินดีกับแฮร์ริส แต่คงไม่มีหลักฐานใดที่จะพิสูจน์ได้ว่า โซรอสคือ "ผู้สั่งการ" เลือกแฮร์ริสให้เป็นผู้ท้าชิงของพรรคเหมือนอย่างรูปแนวล้อเลียนของโอบามากับไบเดนที่กำลังมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ขณะนี้

ผู้ท้าชิงรอง ปธน.สหรัฐฯ เจอกระแส "ทฤษฎีสมคบคิด" โจมตี


ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย ทฤษฎีสมคบคิดจึงไม่ใช่แค่เรื่องไร้สาระอีกต่อไป เพราะทฤษฎีสมคบคิดอาจตกเป็นเครื่องมือของ "ผู้ไม่หวังดี" นำมาใช้ปลุกปั่นและแทรกแซงสถานการณ์ในประเทศต่างๆ ได้ทุกเมื่อ

logoline