svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"ม็อบเบลารุส" ศึกงัดข้อ "รัสเซีย-นาโต"

20 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเบลารุสเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ไม่ได้เป็นแค่เรื่องการเมืองภายในเท่านั้น เพราะถ้าเรามองให้ลึกไปกว่านั้น วิกฤตครั้งนี้ยังเป็นการ "งัดข้อ" กันระหว่างสองขั้วมหาอำนาจ โดยฝ่ายรัสเซียหนุนหลังผู้นำเบลารุสอย่างชัดเจน ในขณะที่ฝ่ายพันธมิตรตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปก็ประกาศเลือกข้างผู้ชุมนุม

เบลารุสซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับรัสเซียในทุกมิติ แต่สำหรับรัสเซีย วิกฤตการเมืองครั้งนี้มี "ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล" เป็นเดิมพัน เนื่องจากท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติความยาวหลายพันกิโลเมตรที่รัสเซียส่งไปขายยังประเทศในยุโรปตะวันตกล้วนแล้วแต่ต้องผ่านเบลารุสทั้งสิ้น ขณะเดียวกันเบลารุสก็ได้ประโยชน์จากการที่รัสเซียขายพลังงานให้ในราคาถูก

"ม็อบเบลารุส" ศึกงัดข้อ "รัสเซีย-นาโต"


ส่วนในแง่ความมั่นคง เบลารุสคือ "รัฐกันชน" ระหว่างรัสเซียกับกลุ่มชาติพันธมิตรนาโต เพราะปัจจุบัน ประเทศที่มีพรมแดนติดหรือใกล้กับฝั่งตะวันตกของรัสเซีย ทั้งเอสโตเนีย ลัทเวีย ลิธัวเนีย และโปแลนด์ ต่างก็ได้กลายเป็นสมาชิกนาโตกันหมดแล้ว ขณะที่ยูเครนแม้ยังไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันก็เอนเอียงไปทางฝั่งตะวันตกชัดเจน ดังนั้น หากเบลารุสย้ายขั้วอีก รัสเซียก็จะถูกนาโตประชิดติดพรมแดนทิศตะวันตกทั้งหมด

"ม็อบเบลารุส" ศึกงัดข้อ "รัสเซีย-นาโต"

นอกจากนี้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ ได้เดินทางเยือนโปแลนด์ซึ่งเป็น "ไม้เบื่อไม้เมา" กับรัสเซียแบบพอดิบพอดี พร้อมกับทำข้อตกลงย้ายทหารสหรัฐฯ จากเยอรมนีมาโปแลนด์เพิ่มเป็นกว่า 5,000 นาย และอาจเพิ่มได้ถึง 2 หมื่นนายในกรณีที่โปแลนด์กำลังเจอ "ภัยคุกคาม" ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน กองกำลังนาโตก็ได้จัด "ซ้อมรบ" ทั้งในโปแลนด์และลิธัวเนีย จนลูคาเชนโกกล่าวหานาโตว่า กำลังเตรียมพร้อมเคลื่อนพลรุกเข้าใกล้พรมแดนเบลารุส

"ม็อบเบลารุส" ศึกงัดข้อ "รัสเซีย-นาโต"


ที่ผ่านมาสหรัฐฯ แสดงออกชัดเจนว่าต้องการโน้มน้าวให้เบลารุสลดการพึ่งพารัสเซีย เห็นได้จากความเคลื่อนไหวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ปอมเปโอกลายเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนแรกในรอบกว่า 25 ปีที่เดินทางเยือนกรุงมินสก์ โดยปอมเปโอยืนยันว่าสหรัฐฯ พร้อมให้การสนับสนุนเบลารุสในด้านพลังงานแทนรัสเซีย เนื่องจากในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ลูคาเชนโกกับปูตินมีความเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับประเด็นราคาพลังงานและการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นไปอีกขั้น

"ม็อบเบลารุส" ศึกงัดข้อ "รัสเซีย-นาโต"


จนถึงตอนนี้ลูคาเชนโกยังคงยืนกรานว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมมีความชอบธรรม สวนทางกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ประกาศชัดเจนว่าไม่ยอมรับการเลือกตั้ง พร้อมกับประณามการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม และเตรียมออกมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ โดยนายโจเซฟ บอเรลล์ เจ้าหน้าที่สูงสุดของอียูด้านต่างประเทศและความมั่นคงออกแถลงการณ์ระบุว่า อียูพร้อมจะอยู่เคียงข้างผู้ชุมนุม และที่สำคัญคือ ชาวเบลาลุสต้องการความเปลี่ยนแปลง "ทันที" ซึ่งคำว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ คงหนีไม่พ้นเปลี่ยนแปลง "ตัวผู้นำ"

"ม็อบเบลารุส" ศึกงัดข้อ "รัสเซีย-นาโต"

นอกจากนี้อียูยังยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเบลารุสหลายข้อ รวมทั้งการขอให้เปิดเวทีนำทุกฝ่ายมาเจรจาหาทางออกกันอย่างสันติ แต่ตราบใดที่อียูยังคงตั้งเงื่อนไขให้เบลารุสต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ เห็นทีลูคาเชนโกคงยากที่จะยอม ขณะเดียวกันเมื่อ "มีงานเข้า" ลูคาเชนโกจึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องกลับไปขอความช่วยเหลือจากพี่ใหญ่อย่าง "ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน" โดยผู้นำรัสเซียได้ให้คำมั่นว่าจะมอบความช่วยเหลือทางทหารให้กับเบลารุสหากมีภัยคุกคาม

"ม็อบเบลารุส" ศึกงัดข้อ "รัสเซีย-นาโต"


ฝ่ายผู้นำยุโรปทราบดีว่า การจะแก้วิกฤตเบลารุส คนที่พวกเขาต้องไปคุยไม่ใช่ลูคาเชนโก แต่คือปูติน ปรากฏว่า ปูตินได้ตอกกลับทั้งนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี ประธานาธิบดีเอมมานูแอล มาครงของฝรั่งเศส และนายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรปไปว่า จริงอยู่ที่ทุกฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลัง แต่การออกมาตรการใดก็ตามเพื่อ "แทรกแซงกิจการภายใน" ของเบลารุส เป็นสิ่งที่รัสเซีย "ยอมไม่ได้"

"ม็อบเบลารุส" ศึกงัดข้อ "รัสเซีย-นาโต"

ดูเหมือนว่ายิ่งวิกฤตการเมืองของเบลารุสยืดเยื้อนานเท่าไหร่ สถานการณ์ก็ดูจะยิ่งซับซ้อนขึ้นเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้วอนาคตของผู้นำที่ได้ฉายาว่า "เผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป" จะลงเอยอย่างไร คงขึ้นอยู่กับว่าการงัดข้อกันระหว่างรัสเซียกับพันธมิตรนาโต ใครจะเป็นฝ่ายชนะ

logoline