svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ประธานาธิบดีมาลีลาออก-ยุบสภา หลังทหารก่อกบฏ

19 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประธานาธิบดี อิบราฮิม บูบาการ์ เคอิต้า ของมาลี ประเทศในแอฟริกาตะวันตก ยอมลาออกและยุบสภาเพื่อเลี่ยงการนองเลือดแล้วในเช้าวันนี้ เพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากทหารกลุ่มหนึ่งก่อกบฏเข้าจับกุมตัวเขาและนายกรัฐมนตรี

ในที่สุดประธานาธิบดีเคอิต้าแถลงการลาออกทางโทรทัศน์แล้ว หลังจากเผชิญการประท้วงขับไล่จากประชาชนตลอดหลายเดือน และทหารกลุ่มหนึ่งก่อเหตุเข้าจับกุมตัวเขาถึงทำเนียบในกรุงบามาโกเมื่อเย็นวาน โดยเขากล่าวว่า ตลอดหลายสัปดาห์เกิดความวุ่นวายและเหตุการณ์ไม่สงบ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต และเมื่อทหารส่วนหนึ่งเข้าแทรกแซง ทำให้เขาไม่มีทางเลือก และจะยอมปฏิบัติตาม เพราะไม่อยากให้สูญเสียเลือดเนื้อเพียงเพื่อให้ตัวเองยังอยู่ในอำนาจ จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่บัดนี้ พร้อมกับยุบรัฐสภาและรัฐบาล

ประธานาธิบดีมาลีลาออก-ยุบสภา หลังทหารก่อกบฏ


การตัดสินใจของผู้นำมาลี วัย 75 ปีมีขึ้นหลังจากทหารกลุ่มหนึ่งเข้ายึดค่ายทหารกาติใกล้กับเมืองหลวง และเข้าควบคุมตัวเขาและนายกรัฐมนตรีบูบู ซิสเซ่ จากทำเนียบประธานาธิบดีไปยังค่ายทหารดังกล่าว นอกจากนี้ทหารยังจับกุมลูกชายของประธานาธิบดี ประธานรัฐสภา รัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีคลัง และเจ้าหน้าที่อีกหลายคน แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ใครเป็นผู้นำการก่อกบฏ และต้องการอะไร รวมทั้งใครจะเป็นผู้บริหารประเทศคนใหม่หลังการลาออกของเคอิต้าขณะที่บรรยากาศตามท้องถนน มีผู้ประท้วงหลายร้อยคนออกจากรวมตัวที่จตุรัสใจกลางเมืองเพื่อเฉลิมฉลองและส่งเสียงให้กำลังใจทหาร ระหว่างที่ขบวนรถของทหารแล่นผ่านและยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อเฉลิมฉลอง และกลุ่ม M5-RFP ที่อยู่เบื้องหลังการประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี ออกมาแสดงสนับสนุนการเคลื่อนไหวของทหารครั้งนี้ซึ่งพวกเขามองว่า ไม่ใช่การรัฐประหาร แต่เป็นการก่อกบฏ

ประธานาธิบดีมาลีลาออก-ยุบสภา หลังทหารก่อกบฏ

เคอิต้าชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อปี 2561 แต่เผชิญกระแสความไม่พอใจจากประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากปัญหาคอร์รัปชัน การบริหารเศรษฐกิจผิดพลาด และปัญหาความรุนแรงในสังคมเพิ่มสูงขึ้น และความโกรธแค้นเพิ่มมากขึ้นในเดือนพ.ค. หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยชี้ขาดผลการเลือกตั้งทั่วไปที่มีปัญหา ทำให้พรรคของประธานาธิบดีครองเสียงข้างมากในสภา นำไปสู่การประท้วงตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นมา ขณะเดียวกันยังมีกระแสความไม่พอใจในหมู่ทหารเรื่องเงินเดือนน้อย และปัญหากลุ่มมุสลิมติดอาวุธ
แต่เหตุการณ์ทหารก่อกบฏเข้าจับกุมตัวประธานาธิบดีทำให้มีเสียงประณามจากนานาชาติ รวมไปถึงสหภาพแอฟริกาและสหประชาชาติเรียกร้องให้ปล่อยตัวเคอิต้าโดยเร็ว นอกจากนี้ประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตกที่มีชาติสมาชิก 15 ชาติ ตกลงร่วมกันปิดพรมแดนที่ติดกับมาลี ระงับการช่วยเหลือทางการเงินทั้งหมดแก่มาลี และขับมาลีออกจากคณะกรรมการที่มีอำนาจตัดสินใจของกลุ่ม ขณะเดียวกันฝรั่งเศสซึ่งเคยเป็นเจ้าอาณานิคมของมาลี ออกมาประณามการกระทำของทหารกบฏ และเรียกร้องให้กลับเข้าค่ายโดยเร็ว

logoline