svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

เจาะเหตุผล "ไบเดน" เลือก "กมลา แฮร์ริส" คู่ชิงรอง ปธน.สหรัฐฯ

15 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"โจ ไบเดน" ว่าที่ตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ได้ประกาศไว้ชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่า ผู้ที่จะมาเป็นคู่ท้าชิงในตำแหน่งรองประธานาธิบดีกับเขาต้องเป็น "ผู้หญิง" เท่านั้น ผลปรากฏว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาไบเดนก็ได้เลือก "กมลา แฮร์ริส" วุฒิสมาชิกจากรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นคู่ท้าชิงของเขา แล้วทำไมไบเดนถึงมองว่าแฮร์ริสคือผู้ที่เหมาะสมที่สุดในกลุ่มนักการเมืองหญิงที่เขาให้ความสนใจกว่า 10 คน เหตุผลหลักก็คือ แฮร์ริสคือตัวเลือกที่ "ปลอดภัยที่สุด" ในสายตาไบเดน

การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการลงประชามติต่อการบริหารประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งผลเฉลี่ยจากโพลล์ส่วนใหญ่พบว่า ชาวอเมริกันเกินครึ่งไม่พอใจการทำงานของทรัมป์ ขณะที่ไบเดนมีคะแนนนิยมทั่วประเทศนำห่างทรัมป์ถึง 10 จุด เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์การเมืองสหรัฐฯ ที่แทบทุกคนมองตรงกันว่า ถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นวันนี้ ไบเดนจะเป็นผู้ชนะแน่นอน ดังนั้น สิ่งที่ไบเดนต้องทำในอีก 80 กว่าวันที่เหลือก่อนถึงวันเลือกตั้งก็คือ เขาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทุกสายตายังคงจับจ้องไปที่ทรัมป์ และทำให้ตัวเขาเองดู "โลว์โปรไฟล์" ที่สุด ซึ่งการเลือกแฮร์ริสเป็นคู่ท้าชิงก็ถือว่าตอบโจทย์ไบเดนมากที่สุด
กมลา แฮร์ริส เป็นตัวเต็งมาตั้งแต่ต้น การที่ไบเดนเลือกเธอจึงทำให้คอการเมืองรู้สึกว่า เป็นการตัดสินใจที่ "ไม่น่าตื่นเต้น" แต่ในอีกแง่หนึ่ง ความตื่นเต้นเป็นสิ่งที่ไบเดนไม่ต้องการ ไม่เหมือนกับผู้สมัครประธานาธิบดีหลายคนในอดีตที่มักเลือกคู่ท้าชิงที่ "คาดไม่ถึง" เวลาตัวเองกำลังตกที่นั่งลำบาก แต่นั่นไม่ใช่สถานการณ์ที่ไบเดนกำลังเผชิญในตอนนี้

เจาะเหตุผล "ไบเดน" เลือก "กมลา แฮร์ริส" คู่ชิงรอง ปธน.สหรัฐฯ


ไบเดนต้องการรองประธานาธิบดีที่ "รู้ใจ" และมีมุมมองต่อโลกแบบเดียวกัน เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างเขากับอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งแฮร์ริสถูกมองเป็นเดโมแครต "สายกลาง" เหมือนกับไบเดน แถมเธอยังรู้จักกับ "โบ" ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของไบเดนที่จากไปด้วยโรคมะเร็งสมองเมื่อ 5 ปีก่อน สมัยที่ทั้งคู่ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนียและเดลาแวร์ในช่วงเดียวกัน

เจาะเหตุผล "ไบเดน" เลือก "กมลา แฮร์ริส" คู่ชิงรอง ปธน.สหรัฐฯ

แฮร์ริสไม่ใช่นักการเมืองโนเนม เธอค่อยๆ ไต่เต้าจากการเมืองท้องถิ่นในตำแหน่งอัยการเขตประจำซานฟรานซิสโกในปี 2547 ขึ้นมาเป็นอัยการประจำรัฐ จากนั้นในปี 2559 เธอจึงกระโดดเข้าสู่การเมืองระดับชาติในตำแหน่งวุฒิสมาชิกรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งในช่วงนี้เองที่แฮร์ริสได้ฉายแววความโดดเด่นจากฝีปากในการอภิปรายและลีลาในการซักฟอกจนกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงของพรรคเดโมแครต ส่วนในการเลือกตั้งใหญ่ปีนี้ ตอนแรกแฮร์ริสได้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย แต่คะแนนนิยมไม่สู้ดีนัก เธอจึงเลือกถอนตัวตั้งแต่การเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารีและคอคัสยังไม่เริ่ม

เจาะเหตุผล "ไบเดน" เลือก "กมลา แฮร์ริส" คู่ชิงรอง ปธน.สหรัฐฯ


ด้วยความที่ผ่านสนามการเมืองมาแล้วโชกโชน แฮร์ริสจึงเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไปพอสมควร และสื่อต้องเคยตรวจสอบ "อดีต" ของเธอมาแล้วอย่างทะลุปรุโปร่ง ทำให้ไบเดนไม่ต้องกังวลว่า วันดีคืนดีจะมีผู้ไปขุดคุ้ยเรื่องอื้อฉาวในอดีตออกมาแฉจนเขาต้องเสียคะแนน นอกจากนี้การที่เธอมาจากรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นฐานเสียงที่ใหญ่ที่สุดของพรรคเดโมแครตยังเป็นการการันตีด้วยว่า เธอจะไม่มีปัญหาเรื่อง "คอนเนคชั่น" และการ "ระดมทุน" สู้ศึกเลือกตั้ง

เจาะเหตุผล "ไบเดน" เลือก "กมลา แฮร์ริส" คู่ชิงรอง ปธน.สหรัฐฯ

หนึ่งในฐานเสียงสำคัญที่สุดของพรรคเดโมแครตคือกลุ่มคนผิวสี ประกอบกับกระแสการชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมด้านสีผิวที่ขยายวงกว้างในปีนี้ หากไบเดนชนะเลือกตั้ง แฮร์ริสซึ่งเป็นลูกครึ่งจาเมกา-อินเดียจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรก และรองผู้นำสหรัฐฯ คนแรกที่มีทั้งเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันและเอเชีย นอกจากนี้แฮร์ริสยังมีบทบาทสำคัญและให้ความสนใจในการต่อสู้เรียกร้องด้านสีผิวมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่นด้วย

เจาะเหตุผล "ไบเดน" เลือก "กมลา แฮร์ริส" คู่ชิงรอง ปธน.สหรัฐฯ


แต่เหนืออื่นใด ปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับไบเดนก็คือ "อายุ" เพราะหากชนะ เขาจะเป็นประธานาธิบดีที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 78 ปี ทำลายสถิติที่ทรัมป์เคยทำไว้ในวัย 70 ปี ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ไบเดนจะขอเป็น "ผู้นำขัดตาทัพ" แค่สมัยเดียว ดังนั้น แฮร์ริสในวัย 55 ปี จึงถูกคาดหมายว่าจะกลายเป็นผู้ท้าชิงประธานาธิบดีคนต่อไปในปี 2567 โดยอัตโนมัติ

logoline