svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

ภารกิจควบคุมโควิด-19 ของคนไทยทุกคน

14 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อเร็วๆนี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ไทยคู่ฟ้า เปิดเผยการจัดอันดับดัชนีของ Global COVID-19 Index (GCI) ซึ่งทำการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ภาพรวมในมิติต่างๆ เกี่ยวกับการฟื้นตัว (Global Recovery Index) จากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 โดยประเทศไทยได้รับการประเมินให้ได้คะแนนดีที่สุด (เพจไทยคู่ฟ้า เผยแพร่ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ค.63)





ทั้งหมดเป็นผลมาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมการ แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นับตั้งแต่องค์การอนามัยโลกประกาศว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public health Emergency of international Concern)  ตั้งแต่นั้นมา กระทรวงสาธารณสุข  นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการต่างๆ ทั้งมาตรการทางกฎหมาย มาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค เป็นต้น


ภารกิจควบคุมโควิด-19 ของคนไทยทุกคน

อย่างมาตรการทางกฎหมาย แม้จะมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 แต่ด้วยสถานการณ์ ณ ขณะนั้น ทั่วโลกเกิดการระบาดในวงกว้าง ขณะที่ประเทศไทยก็พบการระบาดมากขึ้น การใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ในการประสานหน่วยงานต่างๆ นอกกระทรวงสาธารณสุขย่อมไม่เพียงพอ เห็นได้ชัดจากกรณีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนที่สนามมวยลุมพินี (ตั้งแต่วันที่ 14-19 มี.ค.นี้ รวม 52 คน)  และสถานบันเทิงทองหล่อ (ตั้งแต่ 12-19 มี.ค.นี้  มีผู้ติดเชื้อยืนยัน 57 คน) กระทรวงสาธารณสุข ต้องเร่งประสานหน่วยงานต่างๆ นอกสังกัดในการเฝ้าระวัง ข้ามจังหวัด เพื่อเร่งติดตามสอบสวนโรคผู้เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ หรือที่เรียกว่า กลุ่ม PUI (Patient under investigation) เพื่อนำเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังในสถานที่กักกันของรัฐเป็นเวลา 14 วัน และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และหากผลตรวจพบว่ามีการติดเชื้อต้องนำเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยทันที เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้น้อยที่สุด  



จากสถานการณ์ดังกล่าว ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ที่พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพียงฉบับเดียวไม่สามารถใช้ได้อย่างครอบคลุม จึงนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตามพระราชกำหนดการ บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป และประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกจากเคหะสถาน พร้อมจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัดเว้นแต่กรณีอนุญาตตามข้อกำหนด กระทั่งมีการประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ยังคงควบคุมการเดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ส่วนมาตรการควบคุมโรค เริ่มตั้งแต่


1. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ มีการตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศทุกคน ทั้งท่าอากาศยาน ท่าเรือ และด่านพรมแดนทางบกต่างๆ โดยหากผู้เดินทางมีไข้หรืออาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ จะถูกตรวจหาเชื้อ ถ้าพบผลเป็นบวก ต้องนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาทันที โดยคนไทยที่กลับจากต่างประเทศจะได้รับการดูแลเฝ้าระวังควบคุมโรคที่สถานกักกันของรัฐ หรือ State Quarantine แต่หากเป็นคนต่างชาติ หรือคนไทยที่ต้องการชำระค่าใช้จ่ายเอง จะส่งเข้าไปยังโรงแรมที่ได้มาตรฐานและร่วมมือกับภาครัฐ เรียกว่า Alternative State Quarantine ซึ่งเป็นสถานที่กักกันทางเลือกนั่นเอง



2. สถานพยาบาล (ภาครัฐและเอกชน) ทำการคัดกรอง ผู้ที่มีไข้ และอาการระบบทางเดินหายใจ ร่วมกับมีประวัติเสี่ยง รวมไปถึงผู้ป่วยปอดอักเสบที่เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบเป็นกลุ่มก้อนที่มีความเชื่อมโยงกันทางระบาดวิทยา ขณะเดียวกันเรื่องการรักษาพยาบาลยังเตรียมพร้อมเรื่องยา เตียง โดยปัจจุบันมีเตียงมากกว่า 20,000 เตียงทั่วประเทศ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 1,000 คนต่อวัน มีห้องแยก ห้องความดันลบ ไอซียู ประมาณ 2,400 เตียง



ส่วนยานั้น มียา "ฟาวิพิราเวีย" 6 แสนกว่าเม็ด ใช้กับคนไข้ได้ 10,000 คน และยา "เรมเดซิเวียร์" ใช้ในรายที่มีความรุนแรงของโรค ขณะที่การจัดสรรหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ให้หน่วยบริการและโรงพยาบาลสังกัด กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงเอกชนและมหาวิทยาลัย 1.7 ล้านชิ้นต่อวัน หน้ากาก N95 อีกประมาณ 1.7 ล้านชิ้น นำไปใช้กับผู้ป่วยได้เกือบหมื่นราย มีชุด PPE ประมาณ 1 ล้านชุด ซึ่งส่วนหนึ่งผลิตได้เองในประเทศ และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ประมาณ 20 ครั้ง สำหรับวัคซีน ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการทั้งวิจัยพัฒนาภายในประเทศ และประสานความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าในการวิจัยและหากผลิตสำเร็จเมื่อไหร่ ไทยจะเป็นประเทศต้นๆที่ได้รับวัคซีนจากความร่วมมือดังกล่าวด้วย



3. เฝ้าระวังในชุมชน ให้ความรู้ประชาชน เมื่อพบผู้เดินทางมาจากเขตติดโรคติดต่ออันตรายหรือพื้นที่เสี่ยง ตามประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีไข้ ร่วมกับมีอาการ ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้แจ้งบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค DDC Hotline 1422 รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าไปติดตาม เฝ้าระวังพร้อมเน้นความเข้มงวดในการกักกันตนเอง และปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง โดยเฉพาะบุคลากรใกล้ชิดพื้นที่อย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ประเทศไทยมี อสม. ที่เป็นด่านหน้าในการสอดส่องเฝ้าระวัง และตรวจคัดกรองประชาชนที่เข้าข่ายเสี่ยง และหากตรวจพบจะแจ้งทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อดำเนินการสอบสวน ตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป 


ภารกิจควบคุมโควิด-19 ของคนไทยทุกคน

อย่างไรก็ตาม กรณีที่พบผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อ หรือภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด กรมควบคุมโรคจะส่งทีมลงพื้นที่ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก หรือที่เรียกว่า Active Case Finding ซึ่งจะทำการตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการ ทำให้การตรวจหาเชื้อรวดเร็วและครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า คนวัยทำงาน เป็นอีกกลุ่มที่ติดเชื้อได้แต่ไม่แสดงอาการ และมีความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อไปผู้อื่น โดยเฉพาะคนในครอบครัวได้



แต่มาตรการสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดไม่ให้เกิดในวงกว้าง คือ การสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าเกือบ 100% รวมทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing และการล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ เนื่องจากเชื้อโควิดติดต่อจากเสมหะ สารคัดหลั่งจากการไอ จาม มาตรการเหล่านี้ยังคงเป็นมาตรการป้องกันการติดเชื้อที่ดีและมีประสิทธิภาพ และแน่นอนว่าที่ผ่านมาทุกคนปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ และนี่คือ เหตุผลว่า การที่ประเทศไทยควบคุมการระบาดของโรคได้ในระดับที่ดี เป็นที่ชื่นชมของนานาชาติ ล้วนเกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนไทยทุกคน เรียกว่า ฮีโร่ คือ คนไทยทุกคน

logoline