svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ม็อบ "ยั่วยุ-เสี่ยงปะทะ" สู่ "เลือกตั้งใหม่-รื้อสถาบัน"

12 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ฝ่ายความมั่นคงประเมินสถานการณ์หลังม็อบธรรมศาสตร์ 10 สิงหาฯ จับตาขยายวงลุกลาม เน้นวันเชิงสัญลักษณ์ ยั่วยุให้เกิดการปะทะ ถูกจับกุม ยกระดับสู่ชุมนุมใหญ่ กวักมือเรียกต่างชาติเข้าแทรกแซง เป้าหมายสุดท้ายเลือกตั้งใหม่ รื้อโครงสร้างการปกครอง-สถาบันหลักของชาติ เสี่ยงเสียสามจังหวัดใต้ เหตุหนุน "ปกครองตนเอง"

ม็อบนักศึกษาธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา มีเนื้อหาทั้งภาพและเสียงกระทบถึงสถาบันเบื้องสูง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องประเมินสถานการณ์อย่างละเอียดอีกครั้ง

มีรายงานว่า ฝ่ายความมั่นคงได้รับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์ และกำหนดแนวทางที่รัฐบาลจะใช้ในการแก้ไขปัญหาต่อไป โดยมีการสรุปรายงานไปยังหน่วยเหนือและส่งถึงรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ประเด็นแรก วิเคราะห์สถานการณ์จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม มีข้อสรุป 5 เรื่องหลักๆ คือ

1. เป็นการเปิดเจตนาชัดเจนของฝ่ายผู้ชุมนุมแล้วว่า เป้าหมายมุ่งไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญ หรือต้องการให้นายกฯยุบสภา ลาออกตามที่กล่าวอ้างมาตลอด

2. การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม มีการเตรียมการล่วงหน้า ทั้งเวที เครื่องเสียงราคาแพง และมีไฟเขียวจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

3. หลังจากนี้แกนนำจะเปิดเกมรุกหนักขึ้น เน้นเคลื่อนไหววันที่เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันเบื้องสูง

4. มีความพยายามยั่วยุให้เกิดม็อบชนม็อบ ต้องการให้ถูกจับ เพื่ออ้างความชอบธรรมในการชุมนุมใหญ่ และดึงต่างชาติเข้าแทรกแซง

5. มีเจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตบางประเทศในยุโรป และอเมริกา ปรากฏตัวในที่ชุมนุมอย่างชัดเจน

ม็อบ "ยั่วยุ-เสี่ยงปะทะ" สู่ "เลือกตั้งใหม่-รื้อสถาบัน"

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์หลังจากนี้ ฝ่ายความมั่นคงประเมินเป็นฉากทัศน์ หรือ scenario ได้ 3 รูปแบบ คือ

ม็อบ "ยั่วยุ-เสี่ยงปะทะ" สู่ "เลือกตั้งใหม่-รื้อสถาบัน"



1.บังคับใช้กฎหมายที่เหมาะสมในการรับมือกับผู้ชุมนุม เน้นดำเนินคดีเฉพาะตัวการสำคัญในการกระทำที่ร้ายแรงจริงๆ ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องรักษาฐานมวลชนที่ยังรักสถาบันเอาไว้ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ฝ่ายรักสถาบันมองว่ารัฐบาลยังเป็นทื่พึ่งได้ ขณะที่ฝ่ายต่อต้านสถาบันจะเคลื่อนไหวโดยใช้ความรุนแรง คล้ายกับที่ฮ่องกง หรือ "ฮ่องกงโมเดล" มีการเผาทำลายสถานที่ ร้านค้า และยกระดับการชุมนุมกดดัน แต่รัฐบาลมีโอกาสรับมือได้ หากไม่เสียมวลชนกลุ่มเทิดทูนสถาบันไป

2.กรณีที่รัฐบาลนิ่งเฉย ไม่ทำอะไรให้ชัดเจน ก็จะถูกกดดันจากการชุมนุมไปเรื่อยๆ รวมทั้งฝ่ายที่เทิดทูนสถาบันด้วย โดยมีปัจจัยด้านปัญหาเศรษฐกิจที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นตัวเสริมและเร่งสถานการณ์ สุดท้ายนายกรัฐมนตรีอาจต้องลาออกหรือยุบสภา ซึ่งหากเลือกแนวทางลาออก แล้วใช้เสียงข้างมากเลือกนายกฯคนใหม่ ก็อาจซื้อเวลาไปได้ระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้องยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งฝ่ายที่เป็นรัฐบาลอยู่ในปัจจุบันมีโอกาสสูงที่จะพ่ายแพ้

3.ใช้แนวทางการเจรจา โดยไม่ยุบสภา แต่เสนอตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่แนวทางนี้ไม่แน่ว่าจะหยุดยั้งการชุมนุมได้ เพราะแกนนำม็อบมุ่งไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ และหากมีการยกเลิกมาตราที่คุ้มครองการกระทำต่างๆ ของ คสช. ก็อาจเกิดความขัดแย้งรอบใหม่ และอาจนำไปสู่การรัฐประหารอีกรอบได้เช่นกัน

แหล่งข่าวซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปลายทางของการเคลื่อนไหวทั้งหมด หนีไม่พ้นไปจบที่การเลือกตั้ง โดยมีต่างชาติร่วมกดดัน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ต้องการครอบงำฝ่ายการเมืองของไทย เพื่อใช้ไทยเป็นฐานในการคานอำนาจจีนฉะนั้นหากฝ่ายที่เคลื่อนไหวอยู่ได้รับชัยชนะ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันหลักของชาติ เปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการต่างประเทศขนานใหญ่ รวมไปถึงมีโอกาสสูญเสียดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพราะกลุ่มนี้สนับสนุนเรื่องการปกครองตนเองอย่างชัดเจน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 เพื่อปลดล็อกไมให้ประเทศไทยเป็น "รัฐเดี่ยว" เป็นต้น

ส่วนการยกเลิกการชุมนุมในวันนี้ (12 สิงหาคม) ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่า น่าจะเป็นเพราะการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม กระทบภาพลักษณ์ของกลุ่มที่เคลื่อนไหวอย่างรุนแรง และสังคมโดยรวมไม่เอาด้วย จึงต้องหยุดเพื่อประเมินสถานการณ์ ก่อนเคลื่อนไหวต่อไป

logoline