svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ก.อุตฯ จับมือนิด้าหนุน BCG Model

11 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เน้นระบบเศรษฐกิจชีวภาพ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และระบบเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model : Bio Economy ,Circular Economy ,Green Economy) เพื่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาตร์ (นิด้า) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.กำพล    ปัญญาโกเมศ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.วิสาขา ภู่จินดา คณบดีคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ลงนามในความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เน้นระบบเศรษฐกิจชีวภาพ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน   และระบบเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อความยั่งยืนสำหรับภาคอุตสาหกรรม 

สำหรับเจตนารมณ์ของการบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับนิด้า เพื่อร่วมพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และความสามารถด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืนที่พัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติงานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืนของบุคลากร ทั้งในเชิงวิชาการ   และการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น โดยวิธีการต่างๆ เช่น การวิจัย การฝึกอบรม  การสัมมนา การให้คำปรึกษาแนะนำ ส่งเสริมความร่วมมือในการทำวิจัย บริการทางวิชาการ ศึกษาดูงาน   และฝึกปฏิบัติงานด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน  

ก.อุตฯ จับมือนิด้าหนุน BCG Model

นายกอบชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนี้เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เน้นระบบเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือ BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน โดยเศรษฐกิจชีวภาพระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน สำหรับกิจกรรมแรกภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ได้ขอให้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการหรือข้อเสนอเชิงวิชาการในการพัฒนา ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ โดยคาดว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับขีดความสามารถ ในการพัฒนาบุคลากร และพัฒนางานในภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพ เติบโต และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกภายใต้บริบทของความยั่งยืนสืบไป

logoline