svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จี้รัฐบาลแจงนศ.ก่อนบานปลายอีกฝ่ายจัดม็อบชน

11 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"อดีตบิ๊ก ศรภ." ผวาสถานการณ์ม็อบนักศึกษา เสี่ยงบานปลายซ้ำรอย 6 ตุลาฯ จี้พ่อ-แม่-ผู้ปกครองออกโรงเตือนบุตรหลาน ชี้ประเด็นที่เอามาปราศรัยไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นการรับข้อมูลมาแบบผิดๆ พร้อมแนะรัฐบาลแจงข้อเท็จจริงหลายๆ เรื่องที่อธิบายได้ทันที แย้มกลุ่มปกป้องสถาบันเตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ ระวังสายเกินไป

(11 สิงหาคม 2563) พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ (ภาคใต้) ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มปกป้องสถาบัน ประเมินสถานการณ์หลังการชุมนุมของนักศึกษา โดยเฉพาะเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า มีความพยายามจุดกระแสให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรุ่น ระหว่างช่วงอายุ ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็เคยเกิดมาแล้วสมัยเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519

พล.ท.นันทเดช กล่าวว่า ยุคนั้น เด็กๆ นิสิต นักศึกษา พยายามเลียนแบบอเมริกา ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ สมัยนี้ก็มีการยุยงแบบเดียวกัน ใช้วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาตัดสินทุกเรื่อง เช่น ไปโรงเรียนไม่ต้องแต่งเครื่องแบบ ไม่ต้องเชื่อฟังครู ครูเป็นลูกจ้างเรา พ่อแม่ทำเราออกมา ก็มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดู รวมไปถึงเรื่องทางเพศ และมองคนที่อายุมากกว่าว่าล้าหลัง ซึ่งส่วนตัวมองว่ามีปฏิบัติการในลักษณะ "ล้างสมองเด็ก" ประเด็นแบบนี้ทำให้เกิดความแตกแยก และน่ากลัวว่าสถานการณ์จะบานปลาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าที่บอกจะบานปลายนั้น ถึงขั้นลุกลามเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ หรือไม่ พล.ท.นันทเดช มองว่า มีแนวโน้มเป็นไปได้ เพราะในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นักศึกษาก็เป็นแบบนี้ เชื่อว่ามีคนสนับสนุนตัวเองมาก เพราะในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 มีคนออกมาสนับสนุนเยอะ แต่หลัง 14 ตุลาฯ นักศึกษาเข้าไปยุ่งเกี่ยวทุกเรื่อง แม้แต่โรงพักบางแห่ง ยังต้องเชิญนักศึกษาไปอยู่ ไปช่วยไกล่เกลี่ยคดี เทียบกับสมัยนี้ก็แทบไม่ต่างกัน ศาลสั่งห้ามทำ ก็ยังทำ ฉะนั้นหลังจากนี้คาดว่าพลังของผู้ใหญ่จะตื่นตัวออกมา และความรุนแรงอาจจะเกิดขึ้นอีก

"สมัยที่ยังรับราชการก็เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และถ้าจะเปรียบเทียบเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กับสถานการณ์ปัจจุบัน บอกได้เลยว่าการจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงในยุค 6 ตุลาฯ ยังมีน้อยกว่านี้ และเกิดขึ้นไม่มากนัก แต่ปัจจุบันเกิดขึ้นมาก ข้อเท็จจริงบางเรื่องเป็นความเข้าใจผิด รับข้อมูลข่าวสารไม่ครบ บางเรื่องนำมาจากเพจต่างประเทศที่ส่งเข้ามา ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรือ่งจริง แต่เอามาเป็นประเด็นปราศรัย ตั้งเงื่อนไขต่อรอง เท่าที่ดูประมาณครึ่งหนึ่ง เป็นแนวคิดของอดีตแกนนำพรรคสีส้ม และนักวิชาการสูงอายุที่หลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ"พล.ท.นันทเดช ระบุ

เมื่อถามถึงแนวทางแก้ไขปัญหานี้ พล.ท.นันทเดช กล่าวว่า ต้องหาทางพูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อให้ช่วยพูดกับลูกหลานในความดูแล ส่วนตัวยังเชื่อว่านักเรียนนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวยังเป็นส่วนน้อยส่วนแนวทางการใช้กฎหมายเข้าไปจัดการอย่างเด็ดขาดนั้น ตนไม่เห็นด้วย และรัฐบาลจะไม่สามารถตอบคำถามได้

ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ ต้องชี้แจงเหตุผลให้ชัดเจน ว่าแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร อย่างปัญหาอัยการกับตำรวจในคดีนายบอส ที่แกนนำผู้ชุมนุมบางคนหยิบมาพูด เรื่องนี้รัฐบาลชี้แจงได้ เพราะปัญหาไม่ได้เกิดจากรัฐบาล แต่เกิดจากองค์กรอัยการและตำรวจเอง ซึ่งต้องปฏิรูป และปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด

"สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มันโจ๋งครึ่มยิ่งกว่าตอนนี้ เอาอดีตอัยการสูงสุดมาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ให้ทนายหิ้วเงินไปให้ศาลก็ทำมาแล้ว กรณีถุงขนม 2 ล้านบาท มันทำให้ระบบยุติธรรมปรวนแปรมากกว่าปัจจุบัน ฉะนั้น จึงไม่ใช่ข้ออ้างที่จะมาโจมตีรัฐบาลชุดนี้ ที่สำคัญมันไม่ได้เกิดจากรัฐบาล แต่มันเกิดจากความล้มเหลวขององค์กรตำรวจ อัยการ ซึ่งก็ต้องหาวิธีปฏิรูปและป้องกันปัญหากันต่อไป"พล.ท.นันทเดช ระบุ

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา มีระบบจัดการ ไม่ใช่การรวมตัวกันโดยธรรมชาติ ฉะนั้น เมื่อทางมหาวิทยาลัยอนุญาต ก็ต้องรับผิดชอบ และต้องมากกว่าขอโทษ แต่ต้องลาออก อธิการบดีอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องการดำเนินคดีต่อ ใครพูดอะไรที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ต้องดำเนินการให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นลุกลามแน่ เพราะกลุ่มปกป้องสถาบัน ก็เตรียมเคลื่อนไหวแล้วเหมือนกัน เพียงแต่รัฐบาลไปห้ามเอาไว้

"ลูกเสือชาวบ้าน กำนันผู้ใหญ่บ้าน เขาเตรียมเคลื่อนไหวกันอยู่แล้ว ต้องระวังสถานการณ์แบบนี้ ไม่อย่างนั้นเหตุการณ์เดิมๆ จะเกิดขึ้นอีก" พล.ท.นันทเดช กล่าวและว่า หลายเรื่องที่รัฐบาลสามารถอธิบายแทนสถาบันเบื้องสูงได้ ก็ควรรีบดำเนินการ เพื่อหยุดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ไม่ให้แพร่ขยายออกไป

logoline