svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"วิกฤตอาหาร" อาฟเตอร์ช็อกเหตุระเบิดซ้ำเติม "เลบานอน"

08 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เหตุระเบิดครั้งมหึมาในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอนได้สั่นทะเทือนใจคนไปทั้งโลก แต่นอกจากความเสียหายที่ประเมินค่ามิได้ต่อชีวิตและทรัพย์สินแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่กำลังจะตามมาเป็น "อาฟเตอร์ช็อก" ก็คือวิกฤตด้านอาหาร หลังโกดังเก็บธัญพืชโดยเฉพาะข้าวสาลีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศถูกแรงระเบิดจนพังย่อยยับ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจของเลบานอนที่เรื้อรังเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

พื้นที่โดยรอบซากของไซโลบริเวณท่าเรือกรุงเบรุต เต็มไปด้วยกองธัญพืชจำนวนมาก อาทิ ข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าวบาร์เลย์ โดยปะปนกับเศษเขม่า เศษปูน กระจายอยู่เต็มพื้นดิน หลังแรงระเบิดของแอมโมเนียมไนเตรต 2,750 ตัน ได้ทำให้ธัญพืชมากถึงราว 15,000 ตันที่เอาไว้ใช้สำหรับทำขนมปังซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวเลบานอนหายวับไปต่อหน้าต่อตา

"วิกฤตอาหาร" อาฟเตอร์ช็อกเหตุระเบิดซ้ำเติม "เลบานอน"


รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเลบานอนยอมรับว่า ตอนนี้ประเทศเหลือปริมาณธัญพืชสำหรับการบริโภคไม่ถึง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งปกติต้องมีปริมาณธัญพืชเหลือเพียงพออย่างน้อย 3 เดือนเพื่อการันตีความมั่นคงด้านอาหาร แต่รัฐมนตรียืนยันว่า วิกฤตขาดแคลนขนมปังหรือแป้งสาลีจะไม่เกิดขึ้นในระยะยาว เพราะยังคงมีคลังสำรองที่อื่นและเรือขนส่งอีกหลายลำกำลังเดินทางเข้ามา

"วิกฤตอาหาร" อาฟเตอร์ช็อกเหตุระเบิดซ้ำเติม "เลบานอน"

เลบานอนจำเป็นต้องพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าประเภทอาหารถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของการบริโภคในประเทศ โดยปกติแล้วไซโลนี้สามารถรองรับธัญพืชได้ถึง 1 แสน 2 หมื่นตัน แต่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ในเลบานอนได้ลดลงไปถึง 45 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากวิกฤตขาดแคลนสกุลเงินต่างประเทศที่ทำให้เงินปอนด์เลบานอนอ่อนค่า ลงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้ผู้นำเข้าต้องใช้เงินปอนด์เลบานอนจำนวนมากขึ้นเพื่อชำระค่าสินค้าเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

"วิกฤตอาหาร" อาฟเตอร์ช็อกเหตุระเบิดซ้ำเติม "เลบานอน"


นอกจากนี้แรงระเบิดยังทำให้ท่าเรือไม่สามารถใช้การได้ นั่นก็หมายความว่า ธัญพืชที่นำเข้ามาจะต้องไปจอดเทียบท่าที่เมืองอื่นซึ่งอยู่ไกลออกไปและมีขนาดเล็กกว่า ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นและอาจเกิดปัญหาด้านโลจิสติกส์ตามมา ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อจากสกุลเงินที่อ่อนค่า จนตอนนี้ชาวเลบานอนแห่ไปกักตุนขนมปังตามร้านเบเกอรีต่างๆ จนหมดเกลี้ยง

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติระบุในแถลงการณ์แสดงความกังวลว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับท่าเรือกรุงเบรุตอาจทำให้ราคาอาหารในเลบานอนพุ่งสูงจนประชาชนจำนวนมากเอื้อมไม่ถึง ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นช่วงก่อนเกิดเหตุระเบิดพบว่า ชาวเลบานอนถึงครึ่งหนึ่งวิตกว่าพวกเขาอาจมีอาหารไม่เพียงพอรับประทาน

"วิกฤตอาหาร" อาฟเตอร์ช็อกเหตุระเบิดซ้ำเติม "เลบานอน"


จริงอยู่ที่รัฐบาลเลบานอนมีนโยบายอุดหนุนราคาขนมปัง แต่วิกฤตค่าเงินก็ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องขึ้นราคาขนมปังเมื่อไม่นานมานี้ โดยนายกรัฐมนตรีเลบานอนเคยกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า ประเทศกำลังเข้าใกล้วิกฤตด้านอาหารครั้งร้ายแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

"วิกฤตอาหาร" อาฟเตอร์ช็อกเหตุระเบิดซ้ำเติม "เลบานอน"


นอกจากปัญหาข้าวยากหมากแพง ปัจจุบันเลบานอนยังต้องเผชิญกับอีกหลายวิกฤตรอบด้าน ทั้งหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เสถียรภาพทางการเมือง การชุมนุมประท้วง ความตึงเครียดกับประเทศใกล้เคียงอย่างอิสราเอล และการระบาดของโรคโควิด-19 เหตุระเบิดทำลายล้างกรุงเบรุตจึงกลายเป็นอีกหนึ่งวิกฤตที่ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์และสะท้อนให้เห็นว่าความล้มเหลวของรัฐบาลอาจนำมาซึ่งผลพวงอันคาดไม่ถึง

"วิกฤตอาหาร" อาฟเตอร์ช็อกเหตุระเบิดซ้ำเติม "เลบานอน"

logoline