svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"ติ๊กต๊อก" จุดชนวน...กระแสโต้กลับ "ทรัมป์" ?

06 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นอกจากแอปพลิเคชัน "ติ๊กต๊อก" จะถูกมองเป็น "เหยื่อรายล่าสุด" ของความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแล้ว การประกาศเตรียมแบนติ๊กต๊อกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ดูจะเป็นประเด็นทางการเมืองในสหรัฐฯ ด้วย โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็น "บูมเมอแรง" ย้อนกลับมาเล่นงานตัวทรัมป์เองในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนนี้

จริงอยู่ที่รัฐบาลสหรัฐฯ อ้างว่า ติ๊กต๊อกเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่สำหรับทรัมป์ สาเหตุลึกๆ ที่เขา "ไล่บี้" ติ๊กต๊อกขนาดนี้ อาจจะมาจากความแค้นส่วนตัวมากกว่า

"ติ๊กต๊อก" จุดชนวน...กระแสโต้กลับ "ทรัมป์" ?


ย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ทรัมป์ได้กลับมาขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ครั้งแรกในรอบกว่า 3 เดือนที่เมืองทัลซา รัฐโอกลาโฮมา หลังจากต้องหยุดไปเพราะการระบาดของโควิด-19 โดยทรัมป์คุยนักคุยหนาว่างานนี้มีผู้สนับสนุนลงทะเบียนนับล้านคน
แต่พอถึงวันจริง ปรากฏว่าทรัมป์ "หน้าแตกยับเยิน" เมื่อสถานที่ที่เตรียมไว้สำหรับคนหลักแสน กลับมีคนมาฟังปราศรัยจริงๆ แบบโหรงเหรงแค่ 6 พันกว่าคนเท่านั้น จนที่นั่งตรงอัฒจันทร์โดยเฉพาะชั้นบนดูโล่งอย่างเห็นได้ชัด

"ติ๊กต๊อก" จุดชนวน...กระแสโต้กลับ "ทรัมป์" ?

หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ทรัมป์เสียหน้าในครั้งนั้น เชื่อกันว่ามาจากการ "ถูกเด็กหลอก" ผ่านกระแสที่เกิดขึ้นในแอปพลิเคชั่นติ๊กต๊อก เมื่อผู้ใช้วัยรุ่นจำนวนมากพากันโชว์ภาพหน้าจอผลการลงทะเบียนงานปราศรัยทรัมป์โดยไม่ได้ตั้งใจจะไปจริงๆ นอกจากนี้ผู้ใช้ติ๊กต๊อกก็ยังล้อเลียนทรัมป์อย่างต่อเนื่องหลังปรากฎภาพอัฒจันทร์อันว่างเปล่าด้วย

"ติ๊กต๊อก" จุดชนวน...กระแสโต้กลับ "ทรัมป์" ?


ดังนั้น การที่ทรัมป์ต้องการแบนติ๊กต๊อกจึงมีความเป็นไปได้ว่ามาจากความแค้นฝังหุ่น แต่ในขณะเดียวกันตอนนี้ผู้ใช้ติ๊กต๊อกในสหรัฐฯ เกือบร้อยล้านคนที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นก็กำลังโกรธแค้นทรัมป์ไม่แพ้กัน จนเกิดกระแสติดแฮชแท็ก #savetiktok ทั้งในติ๊กต๊อกและทวิตเตอร์ เนื่องจากติ๊กต๊อกได้กลายเป็นช่องทางหลักสำหรับการเข้าสังคมและการแสดงออกของวัยรุ่นอเมริกันในช่วงนี้ที่ต้องกักตัวอยู่กับบ้าน
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดทรัมป์เปิดเผยว่า ทีมงานของเขากำลังกลัวว่า กลุ่มวัยรุ่นผู้ใช้ติ๊กต๊อกอาจจะเปลี่ยนความโกรธแค้นรัฐบาลเป็นพลังทางการเมืองได้ จนอาจเกิดปรากฎการณ์ "คลื่นคนรุ่นใหม่" ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างคับคั่ง โดยหากปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นจริง ย่อมไม่เป็นผลดีกับทรัมป์และพรรครีพับลิกันแน่นอน เห็นได้ชัดเจนจากข้อมูลสถิติในการเลือกตั้งรอบที่ผ่านๆ มา

"ติ๊กต๊อก" จุดชนวน...กระแสโต้กลับ "ทรัมป์" ?


การเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐฯ 3 ครั้งที่ผ่านมา กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 18-29 ปี เป็นกลุ่มประชากรที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันน้อยที่สุด คือเฉลี่ยไม่ถึง 50% ขณะที่เมื่อดูจากมุมมองทางการเมืองแล้ว ชัดเจนว่าคนรุ่นใหม่เกินครึ่งสนับสนุนพรรคเดโมแครตซึ่งมีแนวคิดและนโยบายแบบเสรีนิยม มากกว่าพรรครีพับลิกันซึ่งมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม
เพราะฉะนั้น หากรอบนี้คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมือง ออกมาใช้สิทธิ์กันอย่างล้นหลาม หรืออย่างน้อยก็มากกว่า 50% อย่างที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีบารัก โอบามาสมัยแรกแล้ว ทรัมป์ย่อมตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ "โจ ไบเดน" คู่แข่งอย่างแน่นอน

"ติ๊กต๊อก" จุดชนวน...กระแสโต้กลับ "ทรัมป์" ?


นอกจากนี้ หากทรัมป์ตัดสินใจแบนติ๊กต๊อกจริง อีกหนึ่งผลพวงที่อาจตามมาก็คือ การต่อสู้ทางกฎหมาย โดยหนึ่งในองค์กรด้านสิทธิพลเมืองที่โด่งดังที่สุดในสหรัฐฯ อย่างสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) ได้ออกมาเคลื่อนไหวแล้ว ระบุว่า การแบนแอปพลิเคชันที่หลายล้านคนใช้ติดต่อสื่อสารกัน นอกจากจะไม่สมเหตุสมผลทางเทคโนโลยีแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญด้วย
ต้องจับตากันว่า ในอีกไม่ถึง 3 เดือนนับจากนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองหรือไม่ สุดท้ายแล้วผลแพ้ชนะอาจต้องวัดกันที่พลังของกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็เป็นได้

"ติ๊กต๊อก" จุดชนวน...กระแสโต้กลับ "ทรัมป์" ?

logoline